วันที่ 7 มิถุนายน 2565 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติราชการรายปี (พ.ศ. 2566) ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีนางสาวกาญจนา ทองเกษม ผู้อำนวยการกองแผนงาน ได้กล่าวรายงานว่า กิจกรรมการประชุมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการต่อเนื่องจากการจัดทำแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้กรมการพัฒนาชุมชนมีทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ชัดเจนสอดคล้องกับกรอบแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สามารถใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมถึงการติดตามประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยมีนายเอกราช ญาณอุบล ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และการวางแผน กองแผนงาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงานและนักวิชาการสังกัดส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พัฒนาการอำเภอ และพัฒนากร จำนวนรวมทั้งสิ้น 52 คน เข้าร่วมการประชุมฯ ณ โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 และรายปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในทิศทางเดียวกัน สามารถขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดำเนินการขับเคลื่อนดังนี้ 1) ออกแบบแผนงาน/โครงการ ให้คำนึงถึงบริบท/สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง/ข้อจำกัด เป็นฐานในการกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนภารกิจให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 2) ลดขั้นตอน/ความยุ่งยาก/ภาระงาน แต่ยังคงด้วยคุณภาพ เชื่อมโยงงาน งบ ระบบ คน ให้มีเอกภาพ 3) สืบสาน/ต่อยอดงานเดิม ให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน 4) ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางกลยุทธ์แนวทางการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ อธิบดีพช.กล่าว