วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง” โดยมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริการกรมฯ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้ประกอบการ OTOP และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องจูปิเตอร์ 12-13 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในการนี้ประธานวุฒิสภา ได้นำคณะเยี่ยมชม และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ในงาน OTOP Midyear 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 -12 มิถุนายน 2565 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวกว่า “สมุนไพรไทย” อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน และมีการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น การใช้สมุนไพรถือเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำค่าของคนไทย นับเป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid -19) ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพืชสมุนไพรบางชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรองว่า สามารถช่วยรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ได้ โดยพบว่าสมุนไพรมีกลไกต้านไวรัส และป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์รวมถึงลดการแบ่งตัวไวรัสภายในเซลล์ และเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัสได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง จึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยในภาพรวม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในระดับฐานรากให้สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่พืชสมุนไพรของไทย

“ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญกับการนำเอาสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเป็นอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องสำอาง อันเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการของไทย ได้อีกทางหนึ่ง การเสวนาในวันนี้ เพื่อให้ทราบถึงทิศทาง และแนวทางในการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อร่วมกันผลักดันผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทย ให้ไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบต่อไป ผมอยากจะบอกกับทุกท่านว่าผมเองก็ใช้สมุนไพรไทย ไม่ว่าจะสบู่ หรือยาสระผม ปัจจุบันเส้นผมยังไม่ร่วงเลย เป็นสิ่งที่การันตรีว่าสมุนไพรไทยดีแน่นอน ” ประธานวุฒิสภากล่าว

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม กล่าวว่าเนื่องจากปัจจุบันพืชสมุนไพรได้รับความสนใจในการนามาใช้ประโยชน์ ทางสุขภาพและสุขภาวะเป็นอย่างมาก เนื่องจากความหลากหลายของพืชและสารในพืช คุณประโยชน์ที่หลากหลาย รวมทั้งยังมีองค์ความรู้ท้องถิ่นในการใช้งานที่ยาวนาน สามารถ นามาใช้เป็นหลักฐานด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภค และสังคมที่ต้องการความเป็นธรรมชาติจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีนโยบายผลิต พืชสมุนไพรเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในประเทศรวมถึงการส่งออก แต่ยังคงมุ่งเน้นที่พืชสมุนไพรแปรรูป ในระดับพื้นฐานเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา จึงได้เล็งเห็นถึง โอกาสที่ประเทศไทยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากจุดแข็งสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ สมุนไพรไทย และความสามารถในการผลิตสินค้าเครื่องสำอาง / เวชสำอาง จึงได้ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กาหนดให้มีการจัดเสวนาเรื่อง “การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง / เวชสำอาง” ขึ้น

ด้านนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งยังตระหนักว่าการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเพื่อสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนให้ขับเคลื่อนได้นั้นเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากชุมชนเป็นหน่วยย่อยของสังคมเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของคนในสังคม และเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ อีกทั้งในส่วนของการส่งเสริมการผลิตสมุนไพรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการสร้างความมั่งคั่ง สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยรัฐบาลได้ขับเคลื่อนด้านสมุนไพรโดยมีแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 และแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้

“สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เป็นหนึ่งในห้าของผลิตภัณฑ์โอทอปที่กรมฯ ดำเนินการพัฒนาในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงาน OTOP Midyear 2022 “สุขช้อป สุขใจ สุขทั่วไทยรวมไว้ในที่เดียว” อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ที่จะมีไปจนถึง 12 มิถุนายนนี้ ก็มีผลิตภัณฑ์ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารมาจัดแสดงและจำหน่าย เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการโอทอปประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จึงขอเชิญชวนทุกท่านไปเยี่ยมชมและร่วมสนับสนุน โดยการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ผลิตชุมชนผู้ประกอบการเครื่องสำอางจากสมุนไพร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์พร้อมทั้งเพิ่มพูนความสามารถในการพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริม พัฒนาการเพิ่มมูลค่าสมุนไพร ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนโดยส่วนรวมของประเทศ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว