“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เมืองศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาในอดีต นับเนื่องนานกว่าหลายร้อยปียังคงความสำคัญผ่านยุคสมัย สู่ “เชียงใหม่” จังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองก็เพียงแต่ “นครราชสีมา” เท่านั้น

“เชียงใหม่” ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองมหาวิทยาลัย แหล่งวิทยาการความรู้สำคัญของภาคเหนือ รวมถึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น “อบต.บงตัน” อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความเข้มแข็งของคนในชุมชนที่เปิดรับการพัฒนา ประยุกต์นวัตกรรม เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับยุคสมัยได้อย่างน่าชื่นชมและเป็นแนวทางให้แก่ชุมชนอื่นๆ อีกด้วย 

นายณัฐพงษ์ กันทะโน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบงตัน บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนอย่างภูมิใจว่า ที่นี่มี “โครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบมูลฝอยเพื่อขยายการใช้พลังงานทดแทนในครัวเรือนโดยกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ ต.บงตัน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่” ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรเกือบ 2 ล้านคน รวมถึงนักท่องเที่ยวอีกปีละหลายล้านคน ที่นอกจากจะสร้างสีสันได้ตลอดปีแล้ว ผลจากการกินการใช้ของผู้คนจำนวนมาก ยังก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลตามมาในแต่ละวัน

“วิธีการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง เราต้องขนขยะส่วนหนึ่งไปจัดการในพื้นที่ห่างไกลชุมชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขต ต.บ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยการจัดการขยะใช้วิธีการฝังกลบ และทำให้ให้เกิดก๊าซ จึงมีการหารือระหว่างผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชนในตำบลบงตัน และ อบต.บงตัน กระทั่งเกิดเป็นโครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบมูลฝอย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานของกระทรวงพลังงานช่วยสนับสนุนจนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย” รองนายก อบต.บงตัน กล่าว

ขณะที่ นายบัณฑิต ตั้งโภคานนท์ นักวิชาการพลังงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าในรายละเอียดของโครงการนี้ว่า ขยะที่เกิดขึ้นมีการนำมาทิ้งวันละประมาณ 500-600 ตัน รวมกับของเดิมที่เก็บสะสมอยู่ ทำให้หลุมฝังกลบขยะผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 72,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ โดยใช้ไปประมาณ 30,000 ลบ.ม./วัน และเหลืออีกราว 40,000 ลบ.ม./วัน หากไม่นำไปใช้ก็เท่ากับเสียเปล่า

default

“เป็นที่น่ายินดีที่เมื่อผ่านการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราสามารถนำก๊าซชีวภาพส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์ราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา ด้วยการเดินท่อนำส่งก๊าซระยะทางประมาณ 3 กม. โดยก๊าซที่ส่งได้ประมาณ 600-800 ลบ.ม./วัน ส่งไปใช้ใน 300 ครัวเรือน ถ้าคำนวณเป็นเงินโดยคิดจากราคาแก๊สปัจจุบัน ปีหนึ่งก็จะช่วยประหยัดได้ราว 600,000 บาท/ปี ทุกวันนี้กองทุนน้ำมันต้องสนับสนุนก๊าซ LPG ถัง 15 กก. ประมาณร้อยกว่าบาทต่อถัง ดังนั้นถ้าส่วนตรงนี้ที่ทำได้ก็เท่ากับช่วยลดเรื่องที่ต้องอุดหนุน  กองทุนที่เราจะต้องมาสนับสนุนส่วนหนึ่งก็จะถูกนำไปใช้อย่างอื่นได้” รักษาราชการแทนพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวย้ำ

“โครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบมูลฝอยเพื่อขยายการใช้พลังงานทดแทนในครัวเรือนโดยกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ ต.บงตัน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่” เป็นตัวอย่างสำคัญของการประยุกต์นวัตกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ช่วยลดรายจ่ายครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังพร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติได้จริงนี้ให้แก่ผู้สนใจนำไปเป็นแนวทางปรับใช้อีกด้วย ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลบงตัน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ หรือ สำนักงานพลังงานจังหวัด โทร. 05-3112588