“รมช.ประภัตร” เปิดงานครบรอบ 20 ปี วันสถาปนา มกอช.2 ทศวรรษ การมาตรฐานก้าวไกล สินค้าเกษตรไทยยั่งยืน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสถาปนา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมทั้งกล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี มกอช. ในวันที่ 9 ตุลาคม 2565 และมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่ข้าราชการและบุคลากรของ มกอช.  โดยมี นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. พร้อมด้วย นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการ มกอช. แขกผู้มีเกียรติ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและเข้าร่วมพิธีฯ ณ ห้องประชุม 511 อาคาร 5 มกอช.

เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกอช. มีภารกิจเป็นหน่วยงานกลางด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยทำหน้าที่กำหนด ส่งเสริม ควบคุม และดูแลระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

สำหรับงานสถาปนาครบรอบปีที่ 20 มกอช. จัดขึ้นภายใต้ธีม “2 ทศวรรษ มกอช. การมาตรฐานก้าวไกล สินค้าเกษตรไทยยั่งยืน” เพื่อตอกย้ำถึงแนวทางการดำเนินงานของ มกอช. ที่มุ่งขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วย “3S” (Safety, Security, Sustainability) และ BCG Model เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยกระดับพัฒนางานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

Safety หรือ food safety ความปลอดภัยทางอาหาร หมายถึง การจัดการให้อาหารและสินค้าเกษตรที่นำมาเป็นอาหารบริโภคสำหรับมนุษย์มีความปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากอาหาร ได้แก่ อันตรายทางชีวภาพ อันตรายทางเคมี หรืออันตรายทางกายภาพ ผ่านกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน safety ตั้งแต่ระดับฟาร์ม คือ มาตรฐาน GAP ต่อเนื่องไปยังการแปรรูป คัดบรรจุ คือ มาตรฐาน GMP และสืบเนื่องไปถึงผู้บริโภค

Security ความมั่นคงทางอาหาร มกอช. มุ่งมั่นในการพัฒนามาตรฐานที่ก่อให้เกิดการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นการเสริมสร้างเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมเกษตรพอเพียง ร่วมสร้าง Young Smart Farmer ได้แก่ Q อาสา ที่ปรึกษาเกษตรกร เยาวชนในโครงการเกษตรเพื่อชีวิต และ Q School การสร้างวิทยากรตัวคูณ และการสร้างต้นแบบโรงคัดบรรจุหรือโรงแปรรูป เพื่อให้ภาคเกษตรมีความมั่นคง สินค้าเกษตรมีความหลากหลาย พร้อมเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับร้าน Q Restaurant ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ (DGTFarm) Q Market และ Q Modern Trade เพื่อยกระดับการผลิตของภาคการเกษตรและเกษตรแปรรูปไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง

Sustainable ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มกอช. มีมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนที่จัดทำแล้ว ได้แก่ มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มยั่งยืน มาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน มาตรฐานการผลิตกุ้งทะเลยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ พืชสมุนไพร แมลงเศรษฐกิจ เป็นต้น

เลขาธิการ มกอช. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน มกอช. มีมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ประกาศใช้แล้ว เป็นมาตรฐานทั่วไป 382 เรื่อง มาตรฐานบังคับ 8 เรื่อง และระบบการรับรองและการเทียบเคียงมาตรฐาน เช่น การพัฒนาระบบการรับรองผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ โดยการประยุกต์ใช้ระบบการประเมินผู้ส่งมอบ (Supplier Audit) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเข้าสู่ระบบรับรองผลิตภัณฑ์ มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย การควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค การส่งเสริมการนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) โดยสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย และผลักดันให้เกษตรกรนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพการผลิต ยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน  มีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับสากล ทำให้ผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรของไทยมีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาสนับสนุนงานด้านมาตรฐาน ทั้งระบบตามสอบย้อนกลับ QR Trace on Cloud องค์ความรู้ด้านการผลิตและการจัดการ ทั้งการจัดเก็บข้อมูลและสร้างระบบข้อมูลสินค้าเกษตร รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

“สำหรับก้าวต่อไป มกอช. จะนำ BCG Model ที่นำทรัพยากรมาผลิตและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด รวมถึงกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด มาใช้ขับเคลื่อน “3S” ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร จากเดิมที่ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย ไปสู่การผลิตมากและสร้างรายได้มาก ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง และประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การทำงานที่เกิดความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และภาคประชาชน เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนงานการมาตรฐานของไทยให้ก้าวไกล และสินค้าเกษตรไทยยั่งยืน” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและใบประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้รับบริการจาก มกอช. จำนวน 92 รางวัล ได้แก่ 1) ประเภทตรวจสอบรับรองด้านสินค้าเกษตรและอาหาร จำนวน 6 รางวัล 2) ประเภทสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐาน จำนวน 72 รางวัล 3) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดดีเด่น จำนวน 12 รางวัล และรางวัลเชิดชูเกียรติ จำนวน 35 รางวัล รวมทั้งมีนิทรรศการย้อนรำลึก 2 ทศวรรษ มกอช. “ACFS 20th Anniversary: the journey of food safety” และก้าวสู่อนาคต “มกอช.กับการขับเคลื่อนงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)”