วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ หมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 11 (สกลนคร นครพนมและมุกดาหาร) และเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่เข้าร่วมการถ่ายทำคลิปวีดีทัศน์ความสำเร็จของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือ กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ หมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ตามโครงการผลิตสื่อและเผยแพร่ความสำเร็จของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมี นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พัฒนาการจังหวัดนครพนม นายอำเภอนาหว้า พัฒนาการอำเภอนาหว้า ให้การต้อนรับและร่วมการถ่ายทำคลิปวีดีทัศน์ฯ ในครั้งนี้

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน กำหนดการดำเนินงานโครงการผลิตสื่อและเผยแพร่ความสำเร็จของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พื้นที่จังหวัดนครพนม ในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 ณ กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ หมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทั้งนี้ กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ หมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ ได้รับการสนับสนุนตามโครงการเพิ่มพูนทักษะการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและยกระดับพัฒนาการทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) เพื่อดำเนินกิจกรรม 2 กิจกรรม ได้แก่

  1. กิจกรรมเพิ่มพูนทักษะการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 2 วัน ผู้เข้าร่วม 30 คน ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสกลนคร ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพบ้านท่าเรือ มีทักษะปลูกหม่อน ดูแลต้นหม่อน และมีทักษะเลี้ยงไหมและสาวไหมที่มีคุณภาพ ทำให้สมาชิกสามารถผลิตเส้นไหมได้ เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกหม่อนทั้งเพื่อเลี้ยงไหมและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นในอนาคตและส่งเสริมสนับสนุนการทอผ้าไหม (จากไหมบ้าน) ที่สมาชิกผลิตเอง ทำให้สมาชิกศิลปาชีพบ้านท่าเรือ มีรายได้จากการผลิตเส้นไหม
  2. กิจกรรมเพิ่มพูนทักษะการทอไหมไทยย้อมด้วยไม้ให้สี (ธรรมชาติ) โดยดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 6 วัน ผู้เข้าร่วม 40 คน ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสกลนครและปราชญ์ที่มีความสามารถในการมัดหมี่ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพบ้านท่าเรือสามารถย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ มีทักษะการมัดหมี่ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา การทอไหมพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเป็นวิทยากรการย้อมเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ การมัดหมี่ “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” การทอผ้าไหมด้วยเส้นไหมพื้นบ้าน และมีเครือข่ายการทอผ้าร่วมกับอำเภออื่นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยอำเภอมีการขึ้นทะเบียนสมาชิกสตรี ประเภทองค์กรเพิ่มขึ้นอีก 3 อำเภอ คือ อำเภอวังยาง ท่าอุเทน และอำเภอนาทม