แผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559–2567) โดยการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวน 6,546 หน่วย และรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จำนวน 13,746 หน่วย รวมทั้งสิ้น 20,292 หน่วยยังคงหาแนวทางในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และคืบหน้าตามลำดับ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงแพร่ระบาดของโควิด–19 ก็ตาม

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าของ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการในระยะที่ 2 รวม 2 อาคาร ได้แก่ อาคารพักอาศัยแปลง A (อาคาร A1) สูง 32 ชั้น จำนวน 1 อาคาร 635 หน่วย และอาคารพักอาศัยแปลง D1 (อาคาร D1) สูง 35 ชั้น จำนวน 1 อาคาร 612 หน่วย ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2564–2566

ขณะเดียวกันก็ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (แปลง G) ควบคู่กันไปด้วย โดย “แปลง G” มีลักษณะเป็นอาคารสูง 28 ชั้น จำนวน 1 อาคาร มีห้องพัก 334 หน่วย บนพื้นที่ขนาด 1 ไร่ 3 งาน ความสูง 82.20 เมตร และมีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอื่น ๆ ได้แก่ ห้องพักขยะมูลฝอยรวม ที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ห้องสันทนาการ ระบบบำบัดน้ำเสีย สวนพักผ่อนบนอาคาร พื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนที่ชั้นล่าง และพื้นที่ปลูกผักสวนครัวชั้นดาดฟ้า

ทั้งนี้อาคารที่มีความสูงมากกว่า 23 เมตร เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยมี บริษัท เอเชียแล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะดำเนินการ ประจำปี 2564 และดำเนินการลงตรวจสอบทุก 1 เดือน

การติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำภูมิประเทศ ทรัพยากรดิน คุณภาพอากาศเสียง และความสั่นสะเทือน การใช้น้ำ การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม การจัดการขยะมูลฝอย การจราจร พลังงานไฟฟ้า การป้องกันอัคคีภัย และสุนทรียภาพ ซึ่งผลการตรวจสอบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ยกเว้นการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากบ่อตรวจน้ำหลังผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย คุณภาพน้ำมีค่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารประเภท ข อาจมีสาเหตุมาจากการไม่ได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำและบ่อพักน้ำภายในโครงการ เพื่อให้คุณภาพน้ำมีค่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนดควรตรวจสอบการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพรวมทั้งสูบตะกอนและขุดลอกท่อบ่อพักน้ำ และท่อระบายน้ำเป็นประจำทุก 6 เดือน ล้างทำความสะอาดถังรองน้ำใช้ ถังเก็บน้ำใต้ดิน และถังเก็บน้ำบนดาดฟ้าเป็นประจำทุก 6 เดือน

ส่วนด้านการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการพิจารณาผลการปฏิบัติตามมาตรการฯ ของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (แปลง G) พบว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (CEMCO) และ นายสมัย แสงชาติ ประธานกรรมการชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (แปลง G) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียเพื่อตรวจหาเชื้อโรคและเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในสิ่งแวดล้อม โดยเครื่อง Auto PCR ในพื้นที่เคหะชุมชนดินแดง 1-2 และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (แปลง G) ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบพบว่า น้ำเสียที่ได้จากการจัดเก็บตัวอย่างจากอาคารที่พักอาศัยในพื้นที่ชุมชนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 จุด ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้มอบถุงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด19 ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ น้ำยาไฮเตอร์ และคู่มือการกักตัวสำหรับประชาชน ให้กับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโครงการเคหะชุมชนดินแดง 1–2 อีกด้วย

“พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 เขียนไว้ชัดเจนว่า ‘จัดให้มีเคหะสถานเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย รวมถึงจัดสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย ทำนุบำรุง ปรับปรุง พัฒนา ให้มีคุณภาพที่ดี’ สอดคล้องกับที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญในการกำกับติดตามทุกโครงการของการเคหะแห่งชาติให้เป็นไปตามแนวทางนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน รวมถึงโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงก็เช่นเดียวกัน” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ