วันที่ 3 เม.ย. 65 เวลา 14.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสมเพชร สร้อยสระคู นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี นำหัวหน้าส่วนราชการ เรียนรู้ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตามแนวทางกสิกรรมไร้สารพิษ เน้นธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นหลัก โดย อ.ธงชนะ พรหมมิ เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร กลุ่มองค์กรและวิสาหกิจชุมชน ณ ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษโนนหงส์ทองต.ไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการรับฟังการบรรยายในการทำปุ๋ยอินทรีย์ สูตรเฉพาะ และการปรับปรุงดิน ซึ่งศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษ ที่เป็นต้นแบบการผลิตปุยอินทรีย์ ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร และผู้สนใจได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินงานส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุบลราชธานี แห่งเกษตรอินทรีย์ เป้าหมายพื้นที่ 600,000 ไร่ ในปี 2565 การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือปุ๋ยอินทรีย์ ในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี

นายธงชนะ พรหมมิ เป็นปราชญ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียง รางวัลระดับประเทศปี 2549 เป็นคนปลูกผักตัวจริง ที่ประสบผลสำเร็จปลูกผักต้นยักษ์จนโด่งดัง จากหลักการความเข้าใจในเรื่องปุ๋ยและจุลินทรีย์ จนกลายมาเป็นเจ้าของสิทธิบัตร “น้ำมะพร้าวเทียม” ตัวสร้างกองทัพจุลินทรีย์ ป้องกันโรคพืชและแมลง

นายธงชนะ พรหมมิ เปิดเผย ธาตุอาหารหลักของพืช N P K มีหน้าที่อย่างไรบ้าง
N : ไนโตเจน ทำหน้าที่ในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับพืช ช่วยให้พืชผลิใบสีเขียวแตกยอดงาม เหมือนคนวัยเด็ก
P : ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่สะสมอาหาร ช่วยให้ติดตา ออกดอก ติดผล เหมือนวัยเจริญพันธุ์
K : โพแทสเซียม ทำหน้าที่ให้รสชาติหวานกรอบ

การเรียนรู้จักอาหารพืช มันคือพื้นฐานของการพึ่งตนเองได้ในอาชีพเกษตรกรรม ทุกวันนี้คนหันไปซื้อพวกกาก หรือมูลสัตว์ มาทำปุ๋ย แต่กลับไม่ได้เรียนรู้เลยว่าวัตถุดิบที่นำมาทำปุ๋ยเลี้ยงพืชแท้จริงแล้วมาจากไหน ที่สำคัญยังเอามูลสัตว์ไปใส่พืชโดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการหมัก กลับกลายว่ายิ่งซ้ำเติมพืชผัก สร้างโรคและแมลงให้เกิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียอีก

“การที่คุณไปปลูกต้นไม้ไม่รู้คุณค่าของ N P K ค่าตัวไหนให้พลังงานกับพืชตัวไหน ถ้าไม่รู้ เอาใส่สัดส่วนที่ไม่สมดุลกันไปใส่ให้พืชกินก็เหมือนใส่น้ำปลามากเกินไป น้ำตาลมากเกินไป น้ำส้มมากเกินไป มันก็กินไม่ได้ พืชเช่นเดียวกัน คุณใส่ขี้เถ้าแกลบเยอะๆ คือ การใส่ P ลงไปขณะที่พืชกำลังต้องการ N พืชก็เหลือง ออกดอก หยุดการเจริญเติบโตเพราะสะสมอาหาร ตราบใดที่ได้ N มันงามแน่นอน พืชต้องการอาหารทุกชนิดแต่ห้วงเวลาแตกต่างกัน”