พม. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง : การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัย และผู้สูงอายุ) พ.ศ. 2565 – 2569

วันที่ 24 มี.ค. 65 เวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง : การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ) พ.ศ. 2565 – 2569 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

นายจุติ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มีเจตจำนงที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 7 กระทรวงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ) ทั้งในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ ก่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืนของทุกหน่วยงาน สำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ในกลุ่มเด็กปฐมวัย กระทรวง พม. ได้ร่วมดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ 1) ส่งเสริม พัฒนา และติดตามการพัฒนาเด็กปฐมวัยของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร 2) ส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการพัฒนา คุ้มครอง และจัดสวัสดิการสำหรับเด็กปฐมวัยและครอบครัว รวมถึงเด็กปฐมวัยที่ประสบปัญหาทางสังคม อาทิ เด็กปฐมวัยที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือที่มีรายได้น้อย อยู่ในภาวะเสี่ยง รวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 3) ส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานของสถานรองรับเด็กทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐาน และ 4) ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับเด็กในสถานรองรับเด็ก เป็นต้น

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ในกลุ่มผู้สูงอายุ กระทรวง พม. ได้ร่วมดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ 1) ส่งเสริมศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุคุณภาพ เป็นพื้นที่ต้นแบบการบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ 2) ส่งเสริมการขยายโรงเรียนผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ และ 3) ส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุในชุมชน เป็นต้น