ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เกษตรจังหวัดชุมพร คุณอุดมพร เสือมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร และเกษตรกรชาวสวน จังหวัดชุมพร ร่วมงานตัดทุเรียน พันธุ์หมอนทอง ลูกแรกของจังหวัดชุมพรในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นวันตัดทุเรียนจำหน่ายครั้งแรกชองชาวชุมพร

นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ด้วยจังหวัดชุมพรมีทุเรียนหมอนทอง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 42,643,600,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.78 ในปี 2564 จังหวัดชุมพรจึงได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำกับดูแลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกผลไม้จังหวัดชุมพร จัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ผลไม้คุณภาพดี ของจังหวัดชุมพรให้เป็นที่รู้จัก และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ท้องตลาดและการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพ ของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกจังหวัดชุมพรเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงแต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ชุมพร ชุดใหม่เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565

พร้อมกันนี้ได้ออกกฎประกาศให้มีวันเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองประจำปี 2565 ไว้ให้เป็น วันที่ 1 มิถุนายน 2565 หากพบว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดฝ่าฝืนเก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนด จะมีการดำเนินการจัดการขั้นเด็ดขาดแก่ผู้ฝ่าฝืนตามข้อกำหนดจดแจ้งอย่างเด็ดขาด ในวันนี้จึงได้มีพิธี “ตัดทุเรียนหมอนทองลูกแรกของจังหวัดชุมพร” ขึ้นมาเพื่อการันตีทุเรียนหมอนทองราชาทุเรียนภาคใต้ โดยภายในงาน ได้มีการสาธิตการตรวจคุณภาพของทุเรียนหมอนทองที่มีอายุเหมาะสมแก่จัดมีคุณภาพ ได้แก่ 1. การตรวจดูรูปลักษณ์ภายนอก จะมีลักษณะ ขั้วแข็งเป็นเนื้อไม้ ปลายหนามแห้ง บีบยุบเข้าหากันได้เมื่อใกล้สุก ร่องหนามมีรอยประสานสีน้ำตาล เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน 2. สาธิตการเคาะฟังเสียง ที่สามารถบอกระดับความสุกของทุเรียนจะมีเสียงที่แตกต่างกัน 3.สาธิตการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในทุเรียนไม่ต่ำกว่า 32 % จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้มาลิ้มลอง รสชาติของทุเรียนหมอนทองชุมพร ราชาทุเรียนใต้ โดยเฉพาะในช่วงวันงานเทศกาล “ผลไม้คุณภาพดี ทุเรียนเด่น เมืองชุมพร ปี 2565” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-26 มิถุนายน 2565 ณ สนามข้างโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา หน้าโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และสนามกีฬากลางจังหวัดชุมพร ถนนพิศิษฐพยาบาล ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพร มีเกษตรกรที่มีพื้นที่การปลูกทุเรียนจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะปลูกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ชุมพรยังเป็นแหล่งผลิตทุเรียนหมอนทองที่สำคัญของประเทศไทยเป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออกและยังนับเป็นตลาดทุเรียนส่งออกที่สำคัญ เนื่องจากมีล้งรับซื้อทุเรียน ที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรจึงได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการปลูกทุเรียน โดยการสนับสนุนด้านวิชาการ การช่วยเหลือควบคุมดูแลผลผลิตเมื่อแก่จัด ยกระดับ ให้ทุเรียนชุมพรมีคุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการของผู้บริโภค โดยมีส่วนงานราชการ ตั้งแต่ฝ่ายปกครอง เกษตร พาณิชย์ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรณรงค์ให้มีการทำทุเรียนคุณภาพ เพื่อชื่อเสียงของจังหวัดชุมพร เนื่องด้วยทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ทำให้ สถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ของจังหวัดชุมพรเพิ่มมูลค่าขึ้น ทั้งนี้ ในปีพศ.2564 ที่ผ่านมาพบว่าจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 246,580 ไร่ มีผลผลิตรวม 343,900 ตัน และมีการประเมิน จำนวนผลผลิตทุเรียน ในปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 200,000 ตัน ซึ่งจะมีผลผลิต ออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ด้านนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาอาชีพทำสวน เจ้าของสวนทุเรียน “สวนทวีทรัพย์” และเป็นนายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร เป็นผู้ให้ความสะดวกในการจัดกิจกรรม “ตัดทุเรียนลูกแรกของจังหวัดชุมพร” ได้กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้อาชีพทำสวนทุเรียน ของตนที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ประสบความสำเร็จ คือ ต้องมีความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค ไม่ยอมแพ้ ต้องสู้ต่อไป แม้จะพบกับ อุปสรรคปัญหาหนักแค่ไหนก็ตาม ซึ่งตนเคยได้รับความเสียหายครั้งสำคัญจากวาตภัยพายุใต้ฝุ่นเกย์ เมื่อปี พ.ศ. 2532 ทำให้บ้าน สวนผลไม้เสียหายอย่างมหาศาล เรียกว่า เหลือแค่ที่ดิน ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด โดยจากเริ่มต้นใหม่จนถึงวันนี้เป็นเวลารวม 31 ปี เริ่มต้นปลูกทุเรียน เมื่อ พ.ศ. 2534 โดยเน้นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลักและจำหน่ายเป็นทุเรียนคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมให้กับห้างโมเดิร์นเทรด ในนามแบรนด์ “สวนทวีทรัพย์” โดยมี QR Code ติดที่ขั้วผล สามารถแสกนตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) พร้อมระบุวันที่บริโภคได้ อย่างชัดเจน

พร้อมกันนี้ในการทำสวนทุเรียนนั้น ได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ เช่น การจัดทำวงจรการบริหารจัดการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP หรือ Premium Durian Cycle : PDC ในรอบ 1 ปี ทำให้ง่ายต่อการวางแผน และบริหารจัดการผลิต นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด เพื่อนำทุเรียน ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การส่งออกมีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป หรือเมื่อทุเรียนมีปริมาณมากเกินความต้องการของตลาด ราคาตกต่ำ นำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าโดยแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนฟรีซดราย(อบแห้ง) จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่ดี เน้นด้านการจัดการคุณภาพเป็นสำคัญ อาทิ การเก็บเกี่ยวทุเรียนที่แก่จัด 80-90 % โดยทำการตัดทุเรียนมาวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่แก่จัด จะต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งเกิน 32% พร้อมตรวจสารพิษตกค้างในทุเรียน ก่อนส่งทุเรียนไปตลาดต่าง ๆ รวมทั้งได้วางแผนการตลาดที่ชัดเจน แน่นอน ซึ่งการจำหน่ายผลผลิตจะมีหลายรูปแบบ เช่น ห้างท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ในเครือบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เพจ:สวนทุเรียน สวนทวีทรัพย์ ชุมพร เว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์ ล้งทุเรียนส่งออก จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ได้ผลผลิตดีตามเป้าหมาย โดยจากตัวเลข ปี 2563 ผลผลิตเฉลี่ย 2,505 กก.ต่อไร่ ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 316,346.66 บาท โดยเป็นต้นทุนเฉลี่ย 69,086.66 บาท และกำไรเฉลี่ย 247,260 บาท