เมื่อประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารย่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคน เป็น 9,000 ล้านคน และจะส่งผลให้ความต้องการโปรตีนเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบัน ร้อยละ 60 และ “แมลง” จัดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจเพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2559 BEDO ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลบัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพแมลงที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พบว่ามีแมลงที่เป็นอาหารมนุษย์และสัตว์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ กว่า 100 ชนิด เช่น จิ้งหรีด มดแดง จักจั่น แมลงดา แมลงมัน มวนลำไย มวนเงาะ หนอนนก และแมลงโปรตีน BSF เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน BEDO และมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตและใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อช่วยในการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์
แมลงโปรตีน BSF หรือแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Hermetia illucens L. เป็นแมลงสองปีก ลำตัวสีดำคล้ายตัวต่อ พบได้ตามธรรมชาติทั่วไปในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น อยู่ในอันดับ Diptera (แมลงที่มีปีก 2 ปีก) เช่นเดียวกับกลุ่มแมลงวัน แต่แมลงโปรตีน BSF เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรคและไม่เป็นศัตรูพืช ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมลงรบกวนและเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกัน แมลงวันหลังลาย (Flesh Fly) และแมลงวันบ้าน (House Fly)
แมลงโปรตีน BSF มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว วงจรชีวิตสั้น วางไข่ได้มาก ระยะที่เป็นตัวหนอนกินอาหารที่เป็นอินทรีย์วัตถุได้หลากหลายทั้งวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรอุตสาหกรรม เช่น เปลือกผลไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง เศษผลิตภัณฑ์จากโรงเชือดสัตว์ ขยะอินทรีย์และจากครัวเรือนและชุมชน ตัวหนอนในระยะก่อนเข้าดักแด้จะมีโปรตีนสูง 39 – 56 % ไขมันคุณภาพสูง 25 – 35 % กรดอะมิโนที่จำเป็น และมีสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์ นอกจากนี้เปลือกของดักแด้ยังมีไคโตซานที่เป็นสารสร้างภูมิคุ้มกันและสามารถนำไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้ และมูลของตัวหนอนแมลงโปรตีน BSF สามารถนำมาผลิตเป็นวัสดุบำรุงดินหรือปุ๋ยอินทรีย์
ทั้งนี้ แมลงโปรตีน BSF สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อย่างมีศักยภาพ เริ่มจาก Bioeconomy (เศรษฐกิจชีวภาพ) สามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนปลาป่นและกากถั่วเหลืองในการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลา เป็นต้น นอกจากนั้น ตัวหนอน BSF ที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มที่มีระบบการจัดการฟาร์มที่ดีและใช้เศษผักผลไม้หรือเศษอาหารจากร้านอาหารหรือห้างสรพสินค้าเป็นอาหารเลี้ยงตัวหนอน สามารถนำตัวหนอนที่ได้มาผลิตเป็นแป้งสำหรับทำขนมหรือผงโปรตีนสำหรับกลุ่มรักษาสุขภาพ ขณะเดียวกันน้ำมันสกัด BSF ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมัน Lauric acids ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมผลิตเครื่องสำอางค์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น สาร antimicrobial peptide ช่วยทำให้สัตว์ที่กิน BSF เป็นอาหาร มีภูมิคุ้มกันโรค และกำลังมีการวิจัยเพื่อนำไปใช้ผลิตสารต้านการอักเสบของบาดแผลในมนุษย์ได้อีกด้วย
ขณะที่ Circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) มีการหมุนเวียนเศษเหลือจากการแปรรูปผลผลิตการเกษตรหรือกากเหลือจากอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น กากเบียร์ กากปาล์มและกากอ้อย ฯลฯ ขยะอินทรีย์จากครัวเรือนหรือห้างสรรพสินค้ามาใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงโปรตีน BSF โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมกับ LOTUS’S นำผลิตภัณฑ์อาหารที่หมดอายุในการวางบนชั้นจำหน่ายสินค้า (Food waste) จาก Hyper market หรือ Lotus’s go fresh ส่งต่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงโปรตีน BSF นำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงตัวหนอนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายภายใต้ “โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน” รวมถึงมูลและเศษอาหารที่เหลือจากการกินของแมลงโปรตีน BSF สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือผลิตดินปลูกพืชได้
ส่วนด้าน Green economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ในการผลิตโปรตีนจากแมลงโปรตีน BSF ใช้พื้นที่และน้ำน้อยกว่าการผลิตโปรตีนจากแหล่งอื่นเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและลดการปล่อย CO2 และการนำเศษเหลือจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม (Organic waste) มาใช้ในการผลิตแมลงโปรตีน BSF เป็นการลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการกำจัดขยะด้วยเช่นกัน
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา BEDO ได้ขยายผลองค์ความรู้โดยจัดประชุมเสวนาปรับ เปลี่ยน สู่สังคมเกษตรยั่งยืนด้วยแมลงโปรตีน BSF ภายใต้โครงการขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตแมลงโปรตีน (Hermetia illucens L.) สำหรับอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ในระดับชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งขยายผลการนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยไปขยายผลในระดับชุมชนเพื่อการพัฒนาและยกระดับการผลิตแมลงโปรตีนซึ่งเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจ BCG และทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนในอาหารสัตว์ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้ในระดับชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแมลงโปรตีน BSF และถ่ายทอดวิธีการที่ถูกต้องสำหรับการผลิตและใช้ประโยชน์แมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์แก่เกษตรกรและชุมชน รวมถึงพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้แก่เกษตรกร ด้วยเป้าหมายในการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรโดยตรงในการขับเคลื่อนการขยายผลการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนระดับฐานราก เตรียมความพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture System) ตามปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action)
“แมลงโปรตีน (Black Soldier Fly) ช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนสัตว์ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร แมลงโปรตีนสามารถย่อยสลายซากอินทรีย์ได้ในระยะอันสั้น ส่งผลให้เกิดแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก และลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ได้อย่างมหาศาล BEDO จึงเดินหน้าสร้างการรับรู้ในวงกว้าง เพื่อให้สามารถขยายผลการแก้ปัญหาราคาค่าอาหารสัตว์แพงให้กับเกษตรกร และช่วยลดจำนวนขยะอินทรีย์ในชุมชนตั้งแต่ต้นทางได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการ BEDO กล่าวย้ำ