NCDs ภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทยถึง 76% ต่อปี วัยแรงงานมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด สสส. สานพลัง สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร ชู ‘Happy Workplace’ สื่อสารสุข ส่งต่อนวัตกรรม-เครื่องมือ-ชุดความรู้สุขภาพ 4 มิติ มุ่งขยายผลต้นแบบ 80 องค์กรสู่ ‘องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ’

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ “องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ” (Future of Work on Wellbeing) ว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 76% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี เทียบเท่า 9.7% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สสส. เร่งป้องกันการเกิดโรค NCDs ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573

“กลุ่มวัยแรงงานกว่า 39 ล้านคน มากกว่าครึ่งเป็นแรงงานในระบบ สสส. เร่งสานพลังสมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร และภาคีเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มองค์กร (Happy Workplace) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรสุขภาวะกว่า 80 องค์กร นำชุดความรู้ สื่อ เครื่องมือ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. ที่ส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ครอบคลุมมิติทางสุขภาพที่สำคัญ อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สุขภาพจิต มลพิษทางสิ่งแวดล้อม อาหาร กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุ สุขภาวะทางปัญญา สถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว (Family-Friendly Workplace) เพื่อปรับใช้เป็นเครื่องมือเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ปรับทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กรลดเสี่ยง NCDs นำไปสู่การขยายผลเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. และรองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต้องเผชิญกับความกดดันทางธุรกิจและความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่รุนแรงมากขึ้น จำเป็นต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลง 3 ระดับ คือ 1. ระดับโลก ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างพร้อมกัน 2. ระดับประเทศ ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพให้คนทำน้อยลงแต่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. ระดับองค์กร ต้องปรับตัวอย่างเข้าใจ คือ พนักงานและองค์กรต้องสร้างสมดุล เข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งความคาดหวังและความต้องการในยุค VUCA ที่องค์กรจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงกับความท้าทายอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ องค์กรต้องร่วมกันออกแบบวิธีการทำงานแบบใหม่ให้ตอบโจทย์คนทำงานมากขึ้น Happy workplace สสส. จะช่วยออกแบบรูปแบบและกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่คนทำงาน ส่งผลทำให้คนในองค์กรมีความสุขในการทำงานอย่างยั่งยืน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โรค NCDs ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องใช้เวลา 10-20 ปี จึงจะปรากฏอาการ หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักตามโภชนาการ สัมผัสมลพิษทางอากาศ ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 40 ล้านคนต่อปี หากภายในปี 2573 ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น จะก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์ การประชุมครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ มีการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Active Meeting : HAM) 1 ในนวัตกรรมของ สสส. ที่ใช้สร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ รวมถึงกิจกรรมที่องค์กรสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของบุคลากร อาทิ เพิ่มก้าวเดิน ศิลปะการป้องกันตัว พัฒนาโรงอาหารสุขภาพ งดเหล้า เลิกบุหรี่ มุ่งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ในระยะยาว