“เคหะชุมชนรามอินทรา” เป็นชุมชนชานเมืองของการเคหะแห่งชาติ ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 บนพื้นที่ 52.045 ไร่ เป็นอาคารชุดพักอาศัยสูง 5 ชั้น จำนวน 490 หน่วย และบ้านแถวสองชั้น จำนวน 322 หน่วย รวมทั้งร้านค้าและบริการสาธารณะ

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า เดิมโครงการเคหะชุมชนรามอินทรามีถนนรามอินทราขนาดสองช่องทางจราจร เป็นถนนสายหลักผ่านด้านหน้าโครงการภายหลังเมื่อมีการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งขึ้น ทำให้พื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากชุมชนชานเมืองเป็นชุมชนเมืองอย่างสมบูรณ์ แต่โครงสร้างทางกายภาพได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา สวนทางกับศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงปัญหาต่อเนื่องหลายอย่างจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

การเคหะแห่งชาติจึงได้บรรจุโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ด้วยการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยได้บรรจุอยู่ในแผนยกระดับคุณภาพชีวิต จำนวน 4,000 หน่วยภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) รองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้น้อย จำนวน 2,800 หน่วย รายได้ปานกลาง จำนวน 800 หน่วย และรองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้สูง จำนวน 400 หน่วย โดยมีแนวคิดการออกแบบตามแนวทาง Universal Design เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุและผู้พิการ

ในการฟื้นฟูและพัฒนาโครงการเคหะชุมชนรามอินทรา การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้อยู่อาศัยใน 3 ระดับรายได้ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมชุมชนที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและระบบขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเต็มศักยภาพ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองตามแนวระบบขนส่งมวลชนที่สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเมืองและแผนพัฒนาประเทศ

ในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมการดำเนินงานด้านสังคม และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงของชุมชน มีทั้งการจัดประชุม ประสานงานทำความเข้าใจร่วมกับคณะกรรมการชุมชนจัดโครงการอบรมส่งเสริมบทบาทผู้นำตามธรรมชาติในโครงการ และสร้างเครือข่าย จัดโครงการอบรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์และองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนเมือง การอยู่อาศัยร่วมกันในอาคารสูง จัดกิจกรรมบูรณาการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชน และภาคีเครือข่าย ในวันสำคัญต่าง ๆ

“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราอยู่ภายใต้แผนการฟื้นฟูชุมชนเมืองพัฒนาเมืองใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองกลยุทธ์ ขยายผลการพัฒนาโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง พัฒนาเมืองใหม่ให้เป็น Smart City การเคหะแห่งชาติจึงมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ผู้อยู่อาศัยได้รับรู้รับทราบถึงการดำเนินโครงการฯ ทุกขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงความคิดชุมชนที่มีต่อการฟื้นฟูชุมชนเป็นสำคัญรวมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนผลักดันโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ