มิติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่การเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ในการขับเคลื่อน “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” การเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมที่มีการรับฟังความคิดเห็น พัฒนาทักษะองค์ความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน เพื่อให้เกิดพลังความร่วมมือที่มาจากผู้อยู่อาศัย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มอบหมาย นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมและศึกษาดูงาน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน หลักสูตร “การบูรณาการบริหารจัดการขยะ เครือข่ายเคหะชุมชนดินแดง” ระหว่างวันที่ 25–26 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมี นายสุรพล อริยบัญโญทัย ผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง กลุ่มธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง 1–2 กลุ่มคัดแยกขยะเพื่อสวัสดิการชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) และคณะกรรมการการมีส่วนร่วมการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง จำนวนรวม 150 คน เข้าร่วมอบรม ณ อิงธาร รีสอร์ทจังหวัดนครนายก

โครงการอบรมดังกล่าวได้จัดให้ศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการขยะที่ บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการขยะโดยหลัก 3Rs และการคัดแยกขยะจากต้นทาง การนำขยะมาใช้ซ้ำเพื่อเพิ่มประโยชน์และการจัดการขยะแบบครบวงจร โดย ดร.สุชาติค้าทางชล วิทยากรได้บรรยายให้ความรู้หัวข้อ “การสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน” และ “กระบวนการจัดการขยะเครือข่ายเคหะชุมชนดินแดง” อีกทั้งมีการระดมความคิดเห็นเพื่อถอดบทเรียนอันนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติจริง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารสัจจะรีไซเคิล เคหะชุมชนดินแดง และกลุ่มคัดแยกขยะเพื่อสวัสดิการชุมชน โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (ปี 2566–2570) เพื่อการจัดการขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน

นางนงนุช บุญเย็น อาศัยอยู่แฟลตที่ 62 เคหะชุมชนดินแดง 2 หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมบอกเล่าว่า ได้รับความรู้เกี่ยวกับขยะมากขึ้น เหมือนเปิดโลกให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าขยะมีหลายราคา แต่ละสถานที่ก็ราคาไม่เท่ากัน ได้รู้ว่าขยะโลหะกับขยะอลูมิเนียมแตกต่างกันอย่างไร ตลอดจนวิธีการคัดแยกขยะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ก่อนหน้านี้ลูกได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการขยะของโรงเรียนก็นำความรู้มาถ่ายทอดให้ พอเรามาร่วมกิจกรรมก็มีความรู้มากขึ้นและก็จะนำความรู้ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนกับลูกและสมาชิกคนอื่น ๆ ในชุมชนด้วย เพิ่งรู้ว่าแม้แต่หม้อหุงข้าวที่เราทิ้งไปก็สามารถสร้างมูลค่าได้ ขอบคุณการเคหะแห่งชาติที่ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ มอบประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์กับเราและเพื่อนบ้านทุกคนที่ยังคัดแยกขยะอยู่ คิดว่าทุกคนจะดีใจและนำไปต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มได้อีกด้วย” นางนงนุช บอกเล่าอย่างยินดี

ด้าน นางสาวสุนิศา สุวรรณรังษี อาศัยอยู่ที่อาคารแปลง G มาประมาณ 5 ปี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมกับการเคหะแห่งชาติ ทำให้ได้รับประโยชน์จากความรู้เรื่องการคัดแยกขยะแต่ละประเภท การคัดแยกขยะมีประโยชน์อย่างไร สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างไร ราคาขยะแต่ละชนิดเปลี่ยนแปลงไปตามราคาตลาด และผู้รับซื้อแต่ละรายก็จะให้ราคาไม่เหมือนกัน

“เราได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ควรแยกขยะประเภทใดบ้าง เช่น ที่บ้านซื้อน้ำขวดดื่มตลอด เราก็จะรู้ว่า ขวดน้ำที่เราดื่มทุกวันนี้มันมีมูลค่า ถ้าเป็นขวดที่มีสัญลักษณ์ PET ให้เอาฉลากออกและบี้ให้แบน สะสมนำไปขายสร้างมูลค่าได้ ขอบคุณการเคหะแห่งชาติที่ให้ความรู้และสร้างโอกาสให้พวกเราได้มารับรู้ถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน” นางสาวสุนิศา กล่าว

ขณะที่ ว่าที่ ร.ต. อัครวุฒิ วิไชยคำมาตย์ พักอาศัยอยู่แฟลต 4 เคหะชุมชนดินแดง 1 กล่าวถึงการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการคัดแยกขยะในระบบ 3RS (Reduce Reuse Recycle) ว่าได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่รู้แค่ต้องคัดแยกขยะเพื่อเพิ่มมูลค่า ก็เป็นการลงรายละเอียดขยะแต่ละประเภทว่าต้องคัดแยกอย่างไร

“เมื่อก่อนเวลาแยกขยะเราไม่ทราบว่าอะไรเป็นเหล็ก อลูมิเนียม ตะกั่ว หรือแม้แต่การคัดแยกกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษใส กระดาษ A4 กระดาษลูกฟูก หรือแม้แต่ขวดน้ำ ซึ่งจากที่เคยคัดแยกฉลาก แยกฝาก็ได้รู้ว่าตรงไหนจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ หรือแม้แต่กระป๋องต่าง ๆ ทำอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตรงจุดนี้ได้ความรู้ใหม่ ๆ เยอะมาก จะได้นำไปต่อยอดขยายองค์ความรู้ให้สมาชิกกลุ่มธนาคารขยะรีไซเคิล และไปชักชวนคนในชุมชนให้มาเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ได้รู้จักเพื่อนในชุมชนมากขึ้น ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เกิดความสามัคคีในกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดง และถ่ายทอดองค์ความรู้กันว่าธนาคารขยะรีไซเคิลของแต่ละที่มีการพัฒนาต่อยอดกันอย่างไร เราก็เอาองค์ความรู้มาแลกเปลี่ยนกันเพราะว่าพันธกิจของเราคล้ายกัน ขอขอบคุณคณะกรรมการผู้มีส่วนร่วมต่าง ๆ บุคลากร และผู้บริหารการเคหะแห่งชาติด้วยครับ” ว่าที่ ร.ต. อัครวุฒิ กล่าว