โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของการเคหะแห่งชาติที่ให้ความสำคัญทั้งด้านกายภาพของอาคารบ้านเรือน และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมบทบาทของผู้นำชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมาย นายสมเจต ประพันธ์บัณฑิตรองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมส่งเสริมบทบาทผู้นำตามธรรมชาติในโครงการและสร้างเครื่อข่ายเพื่อการพัฒนาชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราพร้อมด้วย นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายสุรพล อริยบัญโญทัย ผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และผู้อยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา เข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงแรมโชติกาธารารีสอร์ท จังหวัดนครนายก

นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมืองการเคหะแห่งชาติได้ขับเคลื่อนแผนงานด้านสังคมและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราอย่างต่อเนื่อง เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งในด้านสังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน การพัฒนาชุมชนนำไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากผู้อยู่อาศัยในชุมชนต้องมีจิตอาสา จิตสาธารณะ มีความรักถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของตนเองแล้วสิ่งสำคัญที่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชน คือ การเป็นผู้นำชุมชนที่ดี และผู้นำตามธรรมชาติที่ดีต้องมีความพร้อมและความเสียสละ มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวมในการอาสาเข้ามาเป็นผู้นำชุมชนและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนอีกด้วย

นายเสกสรร พงษ์ศาสกุลโชติ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม เปิดเผยว่า ตนเคยเป็นพนักงานของการเคหะแห่งชาติมาก่อนที่จะออกไปทำธุรกิจส่วนตัว และอยู่อาศัยในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2521 เมื่อเวลาผ่านไปชุมชนรามอินทราเกิดการทรุดโทรมไปตามสภาพ ตนรู้สึกชื่นชมยินดีที่การเคหะฯ เล็งเห็นความสำคัญต่อการปรับปรุงพัฒนาฟื้นฟูเพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำมาสู่การอบรมในครั้งนี้ที่ทำให้ค้นพบว่า การเป็นผู้นำธรรมชาติเป็นได้ด้วยตัวเองและเป็นได้ทุกคนไม่ต้องมีใครมาบังคับประสบการณ์จากการอบรมจะได้นำไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิกคนอื่น ๆ ในชุมชน และเชื่อว่าถ้าเรามีความความตั้งใจและสามัคคีพร้อมเพรียง ก็จะมาสามารถร่วมกันพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ได้ และภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวการเคหะแห่งชาติ

ด้าน นางฐิติมา ไพฑูรย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการและประชาสัมพันธ์ชุมชน กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ได้ทั้งความรู้และแนวทางในการนำไปปรับใช้กับสมาชิกชุมชนเพื่อสร้างความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชน และขอขอบคุณการเคหะแห่งชาติที่เปิดโอกาสให้ลูกบ้านได้ฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนกับคณะวิทยากร รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานของการเคหะฯ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนและการเคหะฯ ต่อไป

ขณะที่ นางอัจฉราวดี เศรษฐสุทธิ หนึ่งในสมาชิกชุมชนรามอินทราซึ่งทำหน้าที่เป็น อสส. กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้เพื่อนใหม่และเพิ่มพูนความรู้ไปพร้อมกัน ตระหนักถึงความสำคัญของความสามัคคีปรองดองต่อการพัฒนาชุมชน และยังเข้าใจบทบาทของผู้นำชุมชนมากยิ่งขึ้น ว่าจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ เข้าใจการประสานงานติดต่อ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความเพียร มีความรอบคอบ และต้องรู้จักรับฟังเสียงของลูกบ้านและเพื่อนบ้าน สำคัญที่สุดคือทุกการพัฒนาต้องเริ่มจากตัวเราเองเป็นสิ่งแรก