สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยยื่นหนังสือหนุนรัฐบาลบังคับใช้กม.แก้ปัญหาสุราเถื่อน-ย้ำประชาชนต้องมีข้อมูลเพื่อตัดสินใจบริโภค-พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง “การจัดการปัญหาสุราเถื่อน”

นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ระบุว่า สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย และมีผู้ป่วยสงสัยภาวะพิษจากสุราเถื่อน จำนวน 44 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2567) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยมีความห่วงใยและต้องการนำเสนอข้อคิดเห็นสำคัญสามประการ เพื่อป้องกันปัญหาสุราเถื่อนซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งรัฐ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อความมั่นใจและการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย

นางสาวเขมิกา กล่าวว่า ข้อคิดเห็นประการแรกคือ ในปัจจุบันนั้นการผลิต การนำเข้า และการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมถึงหลักปฏิบัติมาตรฐานทางการตลาด ซึ่งเป็นหลักการภาคสมัครใจที่สมาชิกของสมาคมฯ ยึดถือและปฏิบัติตามมาโดยตลอด ทั้งนี้ สมาคมฯ สนับสนุนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม เพื่อให้การผลิต การนำเข้า และการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในระดับครัวเรือนหรือระดับชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

ข้อคิดเห็นประการที่สองคือ ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจของรัฐจากปัญหาสุราเถื่อน อีกทั้งช่วยให้รัฐสามารถเพิ่มรายรับด้านการคลังจากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้มาตรฐานและถูกกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปีพ.ศ.2562 ที่ผ่านมามีการบริโภคแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายในประเทศไทยถึงประมาณร้อยละ 21 และองค์กร Transnational Alliance to Combat Illicit Trade (TRACIT) ระบุว่า ประเทศไทยสูญเสียด้านงบประมาณการคลังจากการค้าแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายสูงถึง 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวเขมิกา กล่าวต่อว่า ข้อคิดเห็นประการที่สามคือ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยนั้นสนับสนุนการบริโภคและการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบทั้งผู้ประกอบการ ผู้ขายและผู้บริโภค โดยสมาคมฯ จัดอบรมและประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องให้กับประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งได้สร้างความตระหนักรู้ในอันตรายจากสุราเถื่อนและสุราผิดกฎหมาย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย ดื่มไม่ขับ รวมถึงการไม่ดื่มก่อนวัยอันควร

“ส่วนปัญหาในการผลิตสุราเถื่อนนั้น สิ่งที่เกิดคือกระบวนการผลิตซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อาจเกิดการปนเปื้อน นอกจากนี้ก็อาจใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน โดยในกรณีที่เป็นข่าวก็คือยาดอง การทำยาดองที่ใช้เมธานอลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกระทั่งเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายผู้ที่นำไปบริโภคได้ เช่น เกิดการแพ้ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยยืนยันว่า สิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอดและจะยังคงดำเนินต่อไปในภายภาคหน้าก็คือ ความมุ่งมั่นในการให้ความรู้ที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคและการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และสมาคมฯ และสมาชิกก็พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานของรัฐในการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายต่อไป” นางสาวเขมิกา กล่าวย้ำ