UNFPA ลุยพื้นที่อีสาน เดินหน้าสามภารกิจ “ให้ประชาชนเข้าถึงการวางแผนครอบครัวได้อย่างเท่าเทียม-ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ-การพัฒนาประชากรตลอดทุกช่วงวัยเพื่อพร้อมรับสังคมสูงวัย”
วันที่ 8-9 สิงหาคม พ.ศ.2567 – กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA นำโดย นายเพียว สมิธ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ดร.จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทยและผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซีย นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย และทีมงาน เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่นเพื่อทำงานเชิงรุกสามด้าน ได้แก่ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยเข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัวได้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และการพัฒนาประชากรตลอดทุกช่วงวัย เพื่อเตรียมทุกกลุ่มประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย รวมทั้งหารือการขยายขอบเขตความร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกันผลักดันงานทั้งสามนี้ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้และไตรภาคี ซึ่งได้ร่วมทำกับ UNFPA ประจำประเทศไทยมาหลายทศวรรษแล้ว
ในช่วงบ่ายของวันที่ 8 สิงหาคม ทีมงาน UNFPA ประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “SoSafe” แพลตฟอร์มการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย (Life-Cycle Digital Platform) ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเยาวชนมัธยมปลายจากโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และในช่วงบ่ายของวันเดียวกันทีมงานฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ณ ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลขอนแก่น
ต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม ทีมงาน UNFPA ประเทศไทย ได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยช่วงเช้าได้ร่วมสัมมนาในกิจกรรมสำคัญของ UNFPA ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเน้นปัญหาผู้สูงอายุในประเทศในภูมิภาคอาเซียน และร่วมนำเสนอบริบทของประเทศไทย ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นในช่วงบ่าย ทีมงานฯ ได้ร่วมประชุมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นภาคีของ UNFPA มาอย่างยาวนานในถ่ายทอดความรู้อบรมการผดุงครรภ์ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้และไตรภาคี (South-South and Triangular Cooperation – SSTC) ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (TICA) ทั้งนี้ทีมงานฯ ได้เข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนของแผนกห้องปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ และ แผนกผดุงครรภ์ที่มีส่วนอย่างมากในการลดการเสียชีวิตของมารดาที่สามารถป้องกันได้ในประเทศไทยและในประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ภายใต้กรอบ SSTC อีกด้วย
ดร.จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทยและผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า UNFPA ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนทั่วโลก โดยในประเทศไทยนั้น UNFPA ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อเสริมพลังให้วัยรุ่นเข้าถึงสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ สนับสนุนให้ทุกคนโอบรับแนวทางการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย (Life-cycle approach to ageing) และส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีจัดการและตอบสนองต่อความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการผดุงครรภ์และลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งยังมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้โลกของเราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยจึงได้แบ่งปันความเชี่ยวชาญนี้กับหลายๆ ประเทศ รวมถึง ภูฏาน ลาว และติมอร์-เลสเต ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้และแบบไตรภาคี (SSTC) การแบ่งปันนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้สนับสนุนแนวหน้าของ ICPD หรือ การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา ซึ่งมีการฉลองครบรอบ 30 ปีในปีนี้
นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดหลักที่ UNFPA ประเทศไทยใช้ในการทำงานทุกพื้นที่ รวมทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ ก็คือ แนวคิดการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย (Life-Cycle Approach to Ageing) โดยแนวคิดนี้สนับสนุนการลงทุนในทุกช่วงวัยของประชากรแต่ละคน เพื่อให้ประชากรทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม สามารถเข้าสู่ภาวะสูงวัยได้อย่างมีความพร้อมและทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ต้องการได้ รวมถึงด้านสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย ตามหลักสิทธิและทางเลือกของแต่ละคน
“ในภาวะที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยเช่นนี้ UNFPA ประเทศไทยได้เปิดตัวโครงการนำร่อง “Line@SoSafe” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัยแบบดิจิทัล (Life-Cycle Digital Platform) เพื่อช่วยให้ประชากรทุกวัยและทุกกลุ่มมีความพร้อมและสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยได้ โดย SoSafe ถูกออกแบบให้เป็นที่พึ่งพิงที่เป็นทางเลือกที่เสริมและเชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐ พร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือประชากรทุกกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม ในแพลตฟอร์มนี้มีทั้งแชทบอทที่รับแจ้งปัญหาทางสังคมต่างๆ ได้แก่ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว พร้อมให้บริการแล้วในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องจากทั้งหมด 15 จังหวัด และจะมีการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวแนะนำ
ด้าน นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งที่ UNFPA ประเทศไทยนำมาแนะนำให้กับเยาวชนและวัยรุ่นในจังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้คือ SoSafe นวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อช่วยจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ลดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงในครอบครัว ตนเชื่อว่า SoSafe จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนและวัยรุ่นในวันนี้ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี
“วันนี้เด็กนักเรียนในจังหวัดขอนแก่นได้ฝึกใช้ Line@SoSafe เพื่อขอความช่วยเหลือ เพื่อรับข้อมูลและสิทธิประโยชน์ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทางสังคม โดยเฉพาะเมื่อพบกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผมรู้สึกมีความหวังมาก และเชื่อว่าความร่วมมือในระดับท้องถิ่นนี้จะเชื่อมโยงสู่การช่วยเหลือประชากรทุกคนในระดับประเทศต่อไป” นายบุญฤทธิ์ กล่าว
ขณะที่ แพทย์หญิงวัลลภา บุญพรหมมา ประธานศูนย์พึ่งได้ ณ โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ในปัจจุบัน ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ณ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเน้นไปที่แนวทางการช่วยชีวิตและความต้องการของผู้เสียหายเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งผู้หญิง เด็กผู้หญิง LGBTQIA+ และกลุ่มเปราะบางจำนวนมากเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุกและเพิ่มความเข้มแข็งในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอย่างครบวงจร
ส่วน ผศ.ดร. สมจิตร เมืองพิล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา และบริการวิชาการ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ UNFPA ประเทศไทยว่า นอกเหนือจากเรื่องการถ่ายทอดความรู้อบรมการผดุงครรภ์ให้กับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านการส่งเสริม สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยสำหรับเด็กและเยาวชน และการเตรียมดูแลสุขภาพผู้สูงวัย
“การพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญในภาคอีสานเพื่อเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นภารกิจที่คณะพยาบาลและ UNFPA ประเทศไทยจะร่วมมือกันต่อไปในการสร้างสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพดี ให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพ โดยองค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามของการสูงอายุอย่างมีสุขภาพหรือ Healthy Ageing ไว้ว่าเป็นกระบวนการของการพัฒนาและการคงไว้ซึ่งความสามารถในการทำงานที่ทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในการสูงอายุ เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างสังคมเช่นนั้น” รศ.ดร.สมจิตร กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน UNFPA ประเทศไทย ดำเนินแผนงานความร่วมมือ (Country Programme) ฉบับที่ 12 โดยร่วมมือกับรัฐบาลไทยและหลายภาคส่วนในประเทศไทย โดยงานด้านความร่วมมือ South-South and Triangular Cooperation (SSTC) หรือความร่วมมือแบบใต้-ใต้และแบบไตรภาคีมีเป้าหมายเพื่อบรรลุผลภารกิจเพื่อความเปลี่ยนแปลงทั้งสามด้านของ UNFPA (Three Transformative Results) ซึ่งได้แก่ การส่งเสริมให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัว การลดการเสียชีวิตของมารดาที่ป้องกันได้ และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ในประเทศไทยซึ่งเน้นการพัฒนาประชากรตลอดทุกช่วงวัยเพื่อเตรียมทุกกลุ่มประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย แผนภารกิจเหล่านี้คือหนทางสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทยภายใน พ.ศ.2573