สสว. เดินหน้าผนึกหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ/เอกชน ผลักดันพัฒนาสิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการ

สสว. จัดงานแถลงข่าว “สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ MSME (SME Privilege Club)” เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐและเอกชนต่อเนื่อง ผลักดันสิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการ เพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน ขยายช่องทางการตลาด และเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ล่าสุด มีหน่วยงานพันธมิตร และภาคเอกชน เข้าร่วมโครงการแล้ว 36 หน่วยงาน

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานในงานแถลงข่าว “สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ MSME (SME Privilege Club)” โดยมีผู้แทนหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ หอศิลป์บ้าน
จิมทอมป์สัน กรุงเทพฯ

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า สสว. มีพันธกิจในการบูรณาการ และผลักดันการส่งเสริม MSME เพื่อให้มีศักยภาพเท่าทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล โดย สสว. ตระหนักถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSME ในมิติต่างๆ

ผอ.สสว. เผยอีกว่า ด้วยเหตุนี้ สสว.จึงได้ดำเนินงานพัฒนาสิทธิประโยชน์ ภายใต้แนวคิด “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SMEs” มาอย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งเน้นใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการเพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน ด้านการขยายช่องทางการตลาด และด้านการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ อีกทั้งยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และรับทราบความต้องการของผู้ประกอบการที่เข้ามาสู่ระบบเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการต่อไป โดยผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน SME CONNEXT ซึ่งใช้การยืนยันตัวตนด้วย SME ONE ID

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ สสว. ได้เดินหน้างานพัฒนาสิทธิประโยชน์ ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับหน่วยงานพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้ารับบริการกับ สสว. ได้รับสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายครอบคลุม โดยมีการลงนามความร่วมมือทั้ง 3 ด้าน รวม 36 หน่วยงาน

ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน อาทิ สถาบันการสร้างชาติ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทรูสเปซ จำกัด, บริษัท โฟโนไรทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), OPENASIA TECHNOLOGIES, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, สถาบันอนุญาโตตุลาการ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

การขยายช่องทางการตลาด อาทิ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด, บริษัท ลาซาด้า จำกัด, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน), บริษัท เฟเวอร์ลี่ จำกัด, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน), Bank of China (Thai) Public Company Limited, China Resources Enterprise, บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด

การเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน อาทิ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ กองทุนการออมแห่งชาติ

“สสว. ยังคงเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร และร่วมกันใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการสนับสนุน ส่งเสริม ผู้ประกอบการทั้ง 3 ด้าน โดยมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาให้ครบทุกด้าน โดยนอกจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการลงนาม MOU ของ สสว. กับหน่วยงานต่างๆ แล้ว ยังมีบริการอื่นๆ ของ สสว. ที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ผ่านแอปพลิเคชัน SME CONNEXT อาทิ การสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ SME-GP SME Academy 365 SME ONE SME COACH และ OSS หรือศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร ซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย สสว. จะเดินหน้าทำหน้าที่ ‘เคียงข้าง SME คู่คิดที่ดีผู้ประกอบการไทย’ ตลอดไป”ผู้อำนวยการ สสว. กล่าว