เร่งกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพจากชุมชน ส่งเสริม BEDO จับมือ ลาซาด้า ขยายช่องทางสู่ตลาดออนไลน์ หวังเพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจชุมชน
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภายใต้นโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งในระดับธุรกิจและระดับชุมชน มีการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพทั่วประเทศ นำฐานทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นของตนเองมาใช้ประโยชน์ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้มาตรฐาน BEDO’s Concept คือ 1) มีการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรชีวภาพของชุมชน 2) มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) นำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลับไปฟื้นฟู ดูแลรักษาแหล่งวัตถุดิบ หรือทรัพยากรชีวภาพของชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรชีวภาพคงอยู่ และนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา BEDO ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพร่วมกับชุมชน จนได้รับเครื่องหมายรับรอง B-MARK ตามหลักการ BEDO’s Concept แล้วกว่า 115 รายการ ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) อาหารและเครื่องดื่ม 2) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3) เครื่องสำอางและของใช้ส่วนตัว และ 4) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สอย ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจาก การจัดจำหน่ายผ่านร้าน BIOVALUE (ไบโอแวลู) ของ BEDO แล้ว ยังได้สร้างความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมอย่าง ลาซาด้า (Lazada) เพื่อเพิ่มช่องการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ให้กับประชาชนได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ได้อย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ซึ่งการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพภายใต้เครื่องหมายรับรอง B-MARK จะทำให้ชุมชนได้ประโยชน์ ทั้งในด้านการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เสริมความเข้มแข้งให้กับชุมชนยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นให้คงอยู่ เพื่อเป็นฐานทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป