การเคหะแห่งชาติร่วมลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยแปลง A (อาคาร A2, A3 และ A4) สูง 32 ชั้น จำนวน 1,905 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 3
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงตามแผนแม่บทอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 2 อาคาร D1 และล่าสุดได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยแปลง A (อาคาร A2, A3 และ A4) สูง 32 ชั้น จำนวน 1,905 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 3
นายทวีพงษ์ กล่าวต่อว่า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 3 อยู่ในแผนจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยแปลง A (อาคาร A2-A4)โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยแปลง D1 (อาคาร D2) และโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย แปลง C (อาคาร C1) การเคหะแห่งชาติจึงได้เสนอแผนจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตได้คัดเลือกโครงการฯ แปลง A (อาคาร A2-A4) ซึ่งมีวงเงินงบประมาณ2,731.068 ล้านบาท เพื่อเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมประจำปีงบประมาณ 2566 โดยคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตได้มอบหมายให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) คัดเลือกผู้สังเกตการณ์เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง TOR จนถึงสิ้นสุดโครงการ เพื่อสร้างความโปร่งใสและก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ จึงเป็นที่มาของการประชุม Kick Off Meeting และร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการเคหะแห่งชาติและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
“การเคหะแห่งชาติมีความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในทุกโครงการ เพื่อให้การใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิผลปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความสุจริต โปร่งใสและมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วประโยชน์สูงสุดทั้งหมดจะเป็นของพี่น้องประชาชนและผู้อยู่อาศัยในทุกโครงการของการเคหะแห่งชาติ” นายทวีพงษ์ กล่าว
นางวาสนา สุทธิเดชานัย กรรมการส่งเสริมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (ACT IP-CoST FB) กล่าวว่าโครงการข้อตกลงคุณธรรมเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ หน่วยงานเจ้าของงบประมาณ ผู้สังเกตการณ์ตามสัญญาข้อตกลงคุณธรรม และผู้เสนอราคา (e-bidding) เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ปี 2560 ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณเกิน 1 พันล้านบาท ขึ้นไป และจะต้องมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมอยู่ร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ กับโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ
“เมื่อประชาชนทั่วไปเห็นโครงการภาครัฐเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม เชื่อมั่นได้ว่าทุกขั้นตอนของการดำเนินงานโครงการนั้น ๆ จะมีผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ เข้าไปสังเกตการณ์กระบวนการต่าง ๆ ของการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐผู้เป็นเจ้าของหน่วยงาน ผู้เสนอราคา และสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน” นางวาสนา กล่าวย้ำ