การเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็น Smart Building และ Smart Community เมืองน่าอยู่ น่าอาศัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้ก่อสร้างอาคารพักอาศัยตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 ซึ่งผู้อยู่อาศัยจากแฟลตที่ 23-32 จะเข้าอยู่อาศัยในอาคาร D1 สูง 35 ชั้น มีหน่วยพักอาศัยทั้งหมด 612 หน่วย ในช่วงกลางปี 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมชาวชุมชนดินแดงในการย้ายเข้าอยู่อาศัยในอาคารใหม่ การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการจัดประชุมเตรียมความพร้อมผู้อยู่อาศัย ตลอดจนจัดอบรมติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาชุมชนดินแดง พ.ศ. 2563-2567 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวชุมชนดินแดงในมุมมองต่าง ๆ
“การประชุมเตรียมความพร้อมการเข้าอยู่อาศัยในอาคารใหม่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ อย่างครบถ้วนรวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ประเด็นที่เน้นย้ำ คือ เรื่องระเบียบการอยู่อาศัย 7 หมวด ได้แก่ การอยู่อาศัยในอาคารเช่าและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินส่วนรวม การต่อเติมหรือตกแต่งห้องเช่า การรักษาความสะอาดและการทิ้งขยะมูลฝอย การใช้พื้นที่จอดรถภายในอาคารเช่า ค่าบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ภาษีโรงเรือน และอื่น ๆ การใช้ลิฟต์ การห้ามปิดประกาศภายในลิฟต์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ และการแจกใบปลิวภายในอาคาร นอกจากนี้ยังมีเรื่องหลักเกณฑ์การขอรับสิทธิครอบครัวขยาย การรับเงินค่าชดเชยสิทธิการเช่าและเงินช่วยเหลือค่าขนย้าย อาทิ สิทธิการเข้าอยู่อาศัยในอาคารใหม่ กรณีไม่ขอรับสิทธิเข้าอยู่อาคารใหม่จะได้รับเงินชดเชยสิทธิ 400,000 บาท เงินช่วยเหลือการขนย้าย 10,000 บาท ตลอดจนรับทราบขั้นตอนและวิธีการจับสลากและยืนยันการรับสิทธิในโครงการฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในโครงการฯ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายทวีพงษ์ กล่าวย้ำ
สำหรับโครงการอบรมติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาชุมชนดินแดง พ.ศ. 2563-2567 หลักสูตร “เหลียวหลัง แลหน้า การพัฒนาชุมชนดินแดง” ผู้อยู่อาศัยที่เข้าร่วมอบรมได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกันว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่เคยวางแผนไว้ทำได้หรือไม่ได้ ทำแล้วประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ก็นำมาถอดบทเรียนเพื่อวางแผนโดยคำนึงถึงองค์ประกอบด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของทรัพยากรการฟื้นฟูชุมชนเมือง เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด Smart Lifestyle และ Smart Community ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559–2568)
“การเคหะแห่งชาติมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมให้ผู้อยู่อาศัยได้รับรู้และรับทราบถึงการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคิด การวางแผน การเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความรักและหวงแหนในถิ่นที่อยู่ของตน และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนอีกด้วย” นายทวีพงษ์ กล่าวในที่สุด