“เคหะชุมชนรามอินทรา” แต่เดิมเป็นชุมชนชานเมืองของการเคหะแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 บนพื้นที่ 52.045 ไร่ เป็นอาคารชุดพักอาศัยสูง 5 ชั้น จำนวน490 หน่วย และบ้านแถวสองชั้น จำนวน322 หน่วย รวมทั้งร้านค้าและบริการสาธารณะ เมื่อเวลาผ่านไปทำให้พื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากชุมชนชานเมืองเป็นชุมชนเมืองอย่างสมบูรณ์ แต่โครงสร้างทางกายภาพได้ทรุดโทรมลง รวมถึงปัญหาต่อเนื่องหลายอย่างจากน้ำท่วมเมื่อ พ.ศ. 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยอย่างมาก
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติได้บรรจุ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา” ไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยอยู่ในแผนยกระดับคุณภาพชีวิตจำนวน 4,000 หน่วย ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) รองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้น้อย จำนวน 2,800 หน่วย รายได้ปานกลางจำนวน 800 หน่วย และรองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้สูง จำนวน 400 หน่วย โดยมีแนวคิดการออกแบบตามแนวทาง Universal Design เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุและผู้พิการ
“การเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงรายงานความก้าวหน้าโครงการฯ ให้ชุมชนได้รับรู้เป็นประจำทุกปี เพื่อสื่อสารถึงผู้อยู่อาศัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นที่อยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ เป็นอาคารแนวสูง ประมาณ 23 ชั้น ขนาดห้องประมาณ 33 ตารางเมตร มีลิฟต์ขึ้นอาคาร ออกแบบสวยงามทันสมัย น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราจะสำเร็จได้ก็จะขึ้นอยู่กับกระบวนการมีส่วนร่วมของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะต้องเห็นด้วยและขับเคลื่อนไปด้วยกันทุกห้องทุกคน จำนวน 490 หน่วย ให้เห็นด้วย 100% จึงจะเริ่มก่อสร้างอาคารหลังใหม่ได้” นายทวีพงษ์ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติได้จัด “โครงการอบรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์และองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนเมือง” โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ได้มอบหมาย นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้อยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 ณ ภูเขางาม รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการอบรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา สามารถสื่อสารข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูเมืองฯ ที่ถูกต้องให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนได้รับรู้และรับทราบไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังปลุกจิตสำนึกให้ผู้นำมีจิตอาสา มีความเสียสละเพื่อชุมชน รวมถึงเข้าใจบทบาทของผู้นำชุมชน ผู้นำตามธรรมชาติ และการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในชุมชน ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้ดียิ่งขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
“การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และคณะ ร่วมบรรยายให้ความรู้ใน 3 หัวข้อ ประกอบด้วย การอยู่อาศัยร่วมกันในอาคารสูงอย่างไรให้มีความสุข พร้อมกฎระเบียบข้อบังคับการอยู่อาศัยร่วมกัน Case Study โครงการที่อยู่อาศัยอาคารแนวสูงโครงการฟื้นฟูเมืองที่ประสบผลสำเร็จ และแนวทางในการพัฒนชุมชนและการพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้วิสัยทัศน์“ชุมชนรามอินทรา เข้มแข็ง น่าอยู่ มั่นคง และยั่งยืน” รวมถึงได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้อยู่อาศัยระดมความคิดเห็นในหัวข้อแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราให้ประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งมีการนำเสนอผลงานของกลุ่มย่อย ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราต่อไป” นายเทพฤทธิ์กล่าว