สุดคึกคัก! งาน “วิ่งด้วยกัน” ปี67 กรุงไทย-แอกซ่า-สสส. ร่วมสานพลัง สื่อสารสุขสร้างสังคมที่เข้าใจ ตอกย้ำความเสมอภาค ชวนนักวิ่งคนพิการ-ไม่พิการ กว่า 2,000 คน วิ่งสร้างเสริมสุขภาพสู่ปีที่10 เปิดโอกาสให้คนพิการได้พัฒนาศักยภาพ สร้างศักดิ์ศรีความเท่าเทียม มีส่วนร่วมทางสังคม เกิดชุมชนนักวิ่งคนพิการ-ไกด์รันเนอร์ กว่า 15,000 คน

ที่ สนามกีฬาแห่งชาติ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพลศึกษา และมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม จัดงาน “วิ่งด้วยกัน RUN2GETHER 10 YEARS of 2GETHERNESS” ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 สร้างพื้นที่สุขภาวะให้คนพิการ และบุคคลทั่วไปเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 ซึ่งงานครั้งนี้มีคนพิการและไกด์รันเนอร์ อาสาสมัคร เข้าร่วมกว่า 2,000 คน โดยมี นางแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอกซ่า ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และประเทศเกาหลีใต้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ร่วมเป็นไกด์รันเนอร์ พาคู่วิ่งคนพิการเข้าสู่เส้นชัยร่วมกัน

นางแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกรุงไทย -แอกซ่า กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนกิจกรรม “วิ่งด้วยกัน RUN2GETHER 10 YEARS of 2GETHERNESS” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการสร้างมิตรภาพของคนพิการ และคนไม่พิการ ผลักดันนโยบายความเท่าเทียม และความหลากหลาย (Inclusion and Diversity) ของทุกๆ คนในสังคม ที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาโดยตลอด นอกจากนี้บริษัทฯ มุ่งมั่นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสนับสนุน สร้างความตระหนักรู้ในสังคมที่คนพิการ และคนไม่พิการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งนี้ทาง กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต มีความห่วงใย เพิ่มความมั่นใจให้กับทุกคน โดยมอบประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ให้กับนักวิ่ง ตลอดจนอาสาสมัครทุกคน

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า กิจกรรมวิ่งด้วยกัน เริ่มต้นในปี 2558 ซึ่ง สสส. โดยแผนสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ต้องการเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมในกลุ่มคนพิการ ครั้งแรกมีผู้สนใจร่วมวิ่งในสวนสาธารณะ 12 คน แต่ด้วยความต้องการที่มากขึ้น นำมาสู่การจัดงาน “วิ่งด้วยกัน” ต่อเนื่องทุกปี และขยายผลจัดกิจกรรมใน 5 จังหวัด เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และ นครราชสีมา รวมถึงเกิดเครือข่ายวิ่งด้วยกันต่างประเทศในบัลแกเรียฮ่องกง สิงคโปร์ มีผู้ร่วมกิจกรรมตลอด 10 ปี กว่า 15,000 คน ทั้งนี้ สสส. และมูลนิธิด้วยกันฯ จัดให้มีการซ้อมวิ่งร่วมกับคนพิการ และไกด์รันเนอร์เดือนละ 1 ครั้ง เป็นที่เริ่มต้นสำหรับคนพิการ และคนไม่พิการได้มารู้จักการวิ่งด้วยกัน สามารถนัดซ้อมกันเอง เพื่อมีเป้าหมายร่วมงานวิ่งประจำปี และพัฒนาจัดทำ Checklist งานวิ่งที่รองรับคนพิการสำหรับผู้จัดงานวิ่งที่สนใจ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook วิ่งด้วยกัน Fanpage

“นอกจากการสร้างเสริมสุขภาพโดยตรงให้กับคนพิการแล้ว สิ่งสำคัญ ที่ สสส. รณรงค์สื่อสารให้สังคมตลอด คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนพิการ ลบความสงสารออกจากเจตคติ แต่มอบคุณค่าความเป็นคนที่เท่ากัน กิจกรรมวิ่งด้วยกันทำให้สังคมได้เห็นศักยภาพของคนพิการ ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย ช่วยให้คนพิการและคนทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน งานปีนี้เป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชน กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ให้ความสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมหลักของกิจกรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แสดงให้เห็นถึงทิศทางของสังคมไทยที่เริ่มเปิดโอกาสในคนพิการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างเท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ประธานกรรมการมูลนิธิด้วยกันฯ กล่าวว่า กิจกรรมวิ่งด้วยกัน คือ การเปิดโอกาสให้คนไม่พิการมีโอกาสเป็นไกด์รันเนอร์ คอยวิ่งเคียงข้างไปกับคนพิการตลอดเส้นทาง ในบรรยากาศมิตรภาพที่ดี เข้าใจกัน ช่วยเหลือกัน เป็นงานที่ไม่เน้นแข่งขัน แต่พากันเข้าสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จที่เส้นชัยพร้อมกัน ตลอด 10 ปีจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา คนพิการหลายคนรักการวิ่งมากขึ้น จนเข้าการแข่งขันจบฟูลมาราธอน อีกทั้งยังมีนักวิ่งด้วยกันหน้าใหม่ที่เข้าร่วมมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยงานวิ่งด้วยกันประจำปีเป็นงานรวมญาติของครอบครัว มีความสุขและเสียงหัวเราะ เป็นงานวิ่งที่เหนื่อยยิ้มหัวเราะ มากกว่าเหนื่อยวิ่งทุกครั้ง

นายสังคีต ศรีพระราม นักวิ่งตัวแทนเพื่อนคนพิการทุกประเภท กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อ10 ปีก่อน เป็นคนไม่ชอบออกกำลังกาย แต่มีโอกาสเห็นเพื่อน ๆ ได้ไปร่วมกิจกรรม ที่ สสส. มูลนิธิด้วยกันฯ ชวนคนพิการทางการมองเห็นวิ่ง โดยมีเพื่อนๆ คนไม่พิการมาเป็นไกด์รันเนอร์ จึงเกิดความสงสัยคนพิการที่ใช้วีลแชร์ สามารถร่วมวิ่งได้จริงไหม เป็นความท้าทายที่ต้องการก้าวข้ามขีดจำกัด จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม ถือเป็นสนามวิ่งแรกในชีวิต โดยสถิติวิ่งที่ทำได้สูงสุดในงานวิ่งด้วยกัน คือ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ใช้เวลา 41 นาที ปัจจุบันได้เข้าร่วมงานวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ วิ่งด้วยกัน คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนพิการหลาย ๆ คนเปลี่ยนความคิด กล้าออกมาใช้ชีวิต ทั้งคนพิการ และคนไม่พิการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่มีความแบ่งแยกทางสังคม นอกจากได้สุขภาพที่ดี ยังเกิดมิตรภาพ และความเข้าใจกันระหว่างคนพิการและไม่พิการ