สสส.-ทช.-มูลนิธิอันดามัน สานพลัง ลุยแก้ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวจมกองขยะ ประกาศ “ปฏิญญาเกาะลันตา” จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เล็งเก็บภาษีพลาสติก หวังลดปัญหา มุ่งสู่ “Lanta Go Green” ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ พร้อมชูนวัตกรรม BMON ติดอาวุธชาวบ้าน ร่วมป้องกัน “การกัดเซาะชายฝั่ง” ครั้งแรกของไทย

วันที่ 8 ก.พ. 2567 ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง และโครงการลดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในระบบนิเวศทะเล

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ชายฝั่งทะเลไทย 3,151 กม. ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งถึง 1 ใน 4 ส่งผลกระทบทั้งด้านระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลชายหาดที่มีความถูกต้อง มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทางธรรมชาติของชายหาด ความสมดุลชายฝั่งทะเล และวิธีป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงต้องได้รับความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ติดตามข้อมูลชายหาดด้วยตนเอง เพื่อนำใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่ถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ

“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงร่วมกับ สสส. เครือข่ายชุมชนชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัด และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั่วประเทศกว่า 880 คน พัฒนากลไกบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเล สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในท้องถิ่น ช่วยกันสอดส่องดูแลระบบนิเวศทางทะเล ตั้งแต่ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน และท้องทะเล รวมถึงการทำลายปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น การทำประมงผิดกฎหมาย บุกรุกตัดไม้ป่าชายเลน และการจัดการขยะทะเล” ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง เน้นสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง สสส. จึงได้สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรม “เครื่องวัดความลึกน้ำทะเลชายฝั่ง” อย่างง่าย ที่ใช้วัสดุท่อ PVC ให้คนในพื้นที่สามารถใช้งานด้วยตนเอง และเรียนรู้ระบบตรวจวัดรูปตัดชายหาดด้วยเทคโนโลยี BEACH MONITORING (BMON) ที่เป็นฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายหาด ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามหลักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) ทำให้ชุมชนในพื้นที่เกิดความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตื่นตัวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง เรียนรู้ต่อการปรับตัวต่อภัยคุกคามได้อย่างถูกต้อง

“สำหรับปัญหาขยะทะเล ไทยเป็นประเทศที่มีขยะรั่วไหลลงสู่ทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยเฉพาะพลาสติกและโฟม เมื่อขยะลงสู่ทะเลแล้วจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า ไมโครพลาสติก ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ รวมถึงห่วงโซ่อาหารทะเล ย้อนกลับมาสู่ผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ขณะนี้ สสส. อยู่ระหว่างพัฒนาร่างกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์จากพลาสติก นำเอาระบบการลดภาษีมาสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการ เช่น ผลิตพลาสติกที่รีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จะได้รับการลดภาษี ขณะที่ภาษีที่เก็บได้จะคืนสู่ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบจัดการขยะ จัดทำบ่อขยะให้ได้มาตรฐานต่อไป” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอันดามัน และผู้รับผิดชอบโครงการลดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในระบบนิเวศทะเล สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า ไทยมีปริมาณขยะทะเลชายฝั่งกว่า 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 2.8 ล้านตัน ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง มูลนิธิอันดามัน ร่วมกับ สสส. และคนในพื้นที่ อ.เกาะลันตา 3 พื้นที่ ประกาศปฏิญญาเดินหน้าสู่การเป็นลันตา โก กรีน (Lanta Go Green) หรือท่องเที่ยวสีเขียว กำหนดให้ภาคธุรกิจมีระบบจัดการขยะภายใน ตั้งแต่ลดการใช้พลาสติกในแบบครั้งเดียวทิ้ง งดใช้โฟม 100% และปัญหาใหญ่อย่างขยะอาหารที่มีปริมาณมากแต่การระบายสู่ภาคเกษตรน้อย ภาคธุรกิจเครือข่ายโรงแรมสีเขียว นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักบำรุงต้นไม้ในโรงแรม รวมถึงมีระบบจัดการเก็บขยะหาดหน้าโรงแรม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการรีไซเคิล เริ่มเปลี่ยนจากถึงขยะทึบมาเป็นถังขยะแบบตาข่าย ทำให้เกิดการแยกขยะ นำขยะรีไซเคิลไปขาย เป็นการสร้างทัศนียภาพที่สวยงามอีกด้วย

“Lanta Go Green ถือเป็นต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลง สู่ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มุ่งสร้างพื้นที่การท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายทรัพยากร แบ่งปันรายได้ไปสู่ชุมชน อ.เกาะลันตา ถือเป็น 1 ใน 3 พื้นที่ต้นแบบในกลุ่มทะเลอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ เชื่อมโยงระหว่าง จ.ภูเก็ต พังงา และตรัง มีนักท่องเที่ยวกว่า 1.2 ล้านคน สร้างรายได้ 2 แสนล้านบาทต่อปี” นายภาคภูมิ กล่าว