“Dokya eBook” เปิดโฉมครั้งแรก “ต้นแบบ” แพลตฟอร์มล้ำหน้า ให้คำมั่นร่วมขับเคลื่อนวงการหนังสือ เรียกเสียงฮือฮาจากนักเขียนนวนิยายกว่า 100 คนที่มาร่วมงาน และรับชมทางออนไลน์กว่าพันคน
เมื่อช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 บริษัท ดอกหญ้าอีบุ๊ก จำกัดได้จัดงาน “Dokya eBook Open House” เปิดบ้านต้อนรับนักเขียน ณ Jim Thompson Art Center มีนักเขียนหลากรุ่นหลายแนวเขียนเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่งกว่า 100 คน และรับชมสด ผ่านออนไลน์กว่าพันคน
โดยก่อนเริ่มงาน ได้มีการลงทะเบียนและแจกเสื้อยืด Dokya eBook ที่สกรีนสโลแกน “เพียงคลิกเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ” ให้แก่ผู้ร่วมงานทุกคน จากนั้น นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด ได้แนะนำความเป็นมาของ Dokya eBook และแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาแพลทฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์ ให้เป็นมากกว่าร้านขายหนังสือออนไลน์ที่มีอยู่ Beyond the Bookstore ด้วยความตั้งใจที่จะกระตุ้นบรรยากาศการอ่านการเขียนให้คึกคัก Reading for TheFuture มุ่งสร้างชุมชนนักเขียนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ และผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์
“เป็นงานท้าทาย การฟื้นแบรนด์ร้านหนังสือดอกหญ้าที่ปิดตัวไปกว่า 20 ปี แต่ชื่อดอกหญ้ายังเป็นสิ่งอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว หลายคนยังจดจำสโลแกนเดิมได้ เพียงแวะเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ”
นายอดิศักดิ์ ยังให้ความมั่นใจด้วยว่า “ผมอยากสร้างความประทับใจให้คนอ่าน-คนเขียนเหมือนเดิม การเปิดแพลทฟอร์มซื้อขายหนังสือ เป็นอีบุ๊กออนไลน์มันง่าย แต่การจะทำให้ Beyond the Bookstore จะทำอย่างไร เราจึงมุ่งหมายว่า ดอกหญ้าอีบุ๊กจะเป็นแหล่งสร้างงานเขียน สร้าง eco system ของวงการหนังสือ สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ๆ “
“ผมคิดว่ามันมีหลายวิธีมาก และไม่ได้อยู่แค่การอ่านโดยใช้สายตาเพียงอย่างเดียว ทำได้หลายรูปแบบ อันนี้เป็นตัวตั้งที่เราได้ชวนหลายๆ พาร์ทเนอร์มาร่วมงาน เพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการใช้ AI เป็น Personalized Platform การพัฒนาเครื่องมือช่วยนักเขียนหลายๆ อย่างด้วย”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Dokya eBook กล่าวถึงหัวใจของแพลทฟอร์มนี้ด้วยว่า ตั้งใจจะให้เป็น ONE PLATFORM ที่จะขายหนังสือทุกประเภท ทุกรูปแบบ ทุกเจนเนอเรชั่น และทุกเซ็คเมนท์ โดยประสานการทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ และนักเขียน พร้อมกับจะสร้างชุมนุมนักเขียน และคนอ่านให้มีพื้นที่พบปะกัน ผ่านแพลทฟอร์ม ทั้ง onsite, online รวมทั้งเทคโนโลยี Virtual Room และ Metaverse
นายอดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จะเปิดตัวแพลทฟอร์มให้เริ่มลงทะเบียนได้ในช่วงต้นเดือน มีนาคม 2567 และในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (29 มีนาคม-8 เมษายน 2567) จะมีการเปิดบูธเพื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมการประกาศรางวัลการประกวด 3 กิจกรรม และเปิดตัวหนังสือใหม่จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายวงการอีกประมาณ 20 เล่ม
นายอดิศักดิ์พูดอย่างหนักแน่นว่า “นี่คือความมุ่งมั่นของดอกหญ้าอีบุ๊ก เรามาเพื่อปลุกวงการหนังสือ และวงการนักเขียนให้คึกคักขับเคลื่อนไปข้างหน้า อย่าบ่น อย่าโทษกัน เราขอลงมือทำทันที ด้วยความมุ่งมั่น”
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้าตลอดเวลา และเปลี่ยนเร็วมากๆ แต่วงการหนังสือหยุดนิ่งมานานแล้ว มีคนบอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ แล้วทำไมคนมางานสัปดาห์มากมายร่วม 1.5 ล้านคน ทำไมธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ถึงมีรายได้หลายพันล้านต่อปี แล้วคนอ่านเหล่านี้มาจากไหนกัน
“เราจะต้องสร้าง eco system ของวงการหนังสือ ให้คนเข้าถึงได้ง่ายด้วยเทคโนโลยี จะต้องทำให้ทุกช่วงวัย มีคอนเท้นท์ที่สอดคล้องกับความต้องการ สร้างความหลากหลายของเนื้อหาให้มากขึ้น จะทำให้การอ่านเพิ่มขึ้นตามมา”
นายอดิศักดิ์ ยังกล่าวว่า ที่สำคัญ หนังสือเป็นต้นทางของกระบวนการต่างๆ ที่นำไปสู่ซอฟท์พาวเวอร์อีกด้วย
“เราไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว แต่จะมีความร่วมมือข้ามวงการไปสู่ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ อาหาร งานเทศกาลต่างๆ อีกมากมาย”
จากนั้น นางสาววัลลภา ภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแพลตฟอร์ม และ นายพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทMultiverse Expert และบริษัทสยามดีแอพ ที่เป็นทีมพัฒนาแพลตฟอร์ต ได้เปิดหน้าตาของแพลตฟอร์ม และแนะนำวิธีการใช้ รวมทั้งระบบบริหารจัดการรายได้ ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ต่างๆ ของนักเขียน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก
ต่อด้วยการเปิดวงเสวนาเพื่อบอกเล่าเทคนิคการเขียน ในหัวข้อ “เขียนอย่างไรให้ปัง และยอดพุ่งไม่หยุดยั้ง” โดยนักเขียนมือรางวัล “กานท์ชญา” นักเขียนผู้สร้างตำนานนิยายติดอันดับในแพลตฟอร์มลงนิยายชื่อดังทุกเรื่อง , “ชนิตร์นันท์” เจ้าของผลงานนิยายจำนวนมาก และเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มทำ audiobook และ “มาลีรินทร์” ผู้เคยคว้ายอดหลักล้านจากการเขียนนวนิยายออนไลน์มาแล้ว
ในช่วงต่อมา เป็นการแถลงข่าว 3 กิจกรรมการประกวดหลัก และการเปิดโรงเรียนนักเขียน (Dokya Academy) โดย นางสาวนันทพร ไวศยะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนักเขียน และผู้จัดกิจกรรมการประกวด ได้กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการประกวดพล็อตนวนิยาย, การประกวดพากย์เสียง (audio book) และการประกวดนวนิยาย LGBTQ+ รวมทั้งการเปิดหลักสูตร Dokya Academy ที่ประเดิมด้วย 2 วิชาหลัก คือ “Dokya eBook ปลุกฝันปั้นพล็อต” และ “ไม่ยาก ถ้าอยากพากย์แบบมืออาชีพ” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ทั้งนี้ ยังเชิญอาจารย์กนกรส ทิมา จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการออกแบบสื่อสารออนไลน์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มากล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้อีกด้วย
“ทุกกิจกรรมสามารถส่งงานประกวดมาได้ทางอีเมล [email protected] หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ Line OA Dokya eBook แต่อย่าชะล่าใจนะคะ ตอนนี้มีส่งเข้ามาบ้างแล้ว เรามีกำหนดวันสิ้นสุดการส่งงานตามเวลาที่วางไว้เป็นช่วงๆ เพื่อให้มีเวลาในการเขียนงานที่ถนัด และใครที่ลงทะเบียนประกวดแล้ว ก็จะได้รับสิทธิ์ในการสมัครเข้าร่วมเป็นนักเรียนรุ่นแรก ของ Dokya Academy ด้วยค่ะ”
สำหรับบรรยากาศตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็น เต็มไปด้วยความอบอุ่น เป็นกันเอง นักเขียนหลายคนยกมือซักถามผู้บริหาร และทีมงานของ Dokya eBook ในประเด็นต่างๆ อย่างเต็มที่ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองตามประสาคนคอเดียวกันอย่างคึกคัก
ในช่วงท้ายงาน ยังมีการแสดงดนตรีคลาสสิคให้ฟังกันสดๆ จากนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะจบรายการด้วยความชื่นมื่น