โครงการเคหะชุมชนรามอินทราเป็นโครงการที่อยู่อาศัยชุมชนชานเมืองของการเคหะแห่งชาติก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 ปัจจุบันมีหน่วยพักอาศัย รวม 812 หน่วย อาคารชุดพักอาศัยสูง 5 ชั้น จำนวน 490 หน่วย บ้านแถวสองชั้น จำนวน 322 หน่วย รวมทั้งร้านค้าและบริการสาธารณะ

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการเคหะชุมชนรามอินทรา เป็นโครงการที่มีการอยู่อาศัยมาเกือบ 50 ปี ปัจจุบันตัวอาคารมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา ซึ่งสวนทางกับสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบ ทั้งในด้านคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการ ประกอบกับเมื่อปี พ.ศ. 2554 โครงการฯ ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ทั้งโครงการมีระดับต่ำกว่าถนนรามอินทราประมาณ 1.50 เมตร ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง รวมทั้งปัญหาสภาพสังคม การอยู่อาศัยค่อนข้างแออัด มีผู้ใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่อาศัย จากปัญหาดังกล่าวล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยภายในชุมชนเป็นอย่างมาก

การเคหะแห่งชาติตระหนักถึง “คุณภาพชีวิต” ของผู้อยู่อาศัยเป็นปัจจัยหลัก รวมถึง “ศักยภาพของพื้นที่” สามารถพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะผลักดันผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ จึงมีแนวทางในการดำเนิน “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา” โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา ตามข้อคิดเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติจัดทำโครงการต่อไป

“โครงการเคหะชุมชนรามอินทรา” ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพสูง เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ คือ แนวเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านด้านหน้าโครงการ และโครงการตั้งอยู่ระหว่างสถานีรามอินทรา 31 และสถานีมัยลาภในระยะ 500 เมตร จากสถานี (คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566) ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศและนโยบายของการเคหะแห่งชาติในการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ อาทิ Community Mall อาคารสูง และหมู่บ้านจัดสรร ส่งผลให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคและสาธารณูปการรองรับการอยู่อาศัย นอกจากนี้พื้นที่โครงการยังอยู่ติดถนนรามอินทรา สามารถพัฒนาทางด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ต่อไปในอนาคต“สำหรับการดำเนิน “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา” สิ่งที่การเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญมากที่สุดคือผู้อยู่อาศัยในชุมชน จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้รับรู้และรับทราบถึงการดำเนินโครงการฯ ทุกขั้นตอนตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส โดยมีแผนงานสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและยอมรับการเปลี่ยนแปลง แผนงานเสริมสร้างความรู้และการมีส่วนร่วมกับผู้อยู่อาศัยการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ รวมถึงกิจกรรมอบรมสร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการฟื้นฟูชุมชนรามอินทราให้ผู้อยู่อาศัยรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องไปในทิศทางเดียวกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วโครงการฟื้นฟูเมืองทั้งหมดนอกจากจะเป็นการแก้ไขด้านกายภาพของอาคารสถานที่ซึ่งมีอายุการใช้งานยาวนานแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัยทุกคน” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวย้ำ