UNFPA ประเทศไทย จับมือ TICA ลงนามความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธ์ศาสตร์ (Strategic Partnership) พร้อมผลักดันกรอบการทำงานเชิงกลยุทธ์ เพื่อบรรลุภารกิจทั้งสามด้านของ UNFPA (Three Transformative Results) ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 – นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และนางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธ์ศาสตร์ ระหว่าง กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund หรือ UNFPA) และ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency หรือ TICA) โดยมี นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน UNFPA ประเทศไทย ดำเนินแผนงานความร่วมมือ (Country Programme) ฉบับที่ 12 โดยร่วมมือกับรัฐบาลไทยและหลายภาคส่วนในประเทศไทยเพื่อบรรลุผลภารกิจทั้งสามด้านของ UNFPA (Three Transformative Results) ได้แก่ การส่งเสริมให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัว การยุติการเสียชีวิตของมารดาจากสาเหตุที่ป้องกันได้และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและการกระทำที่เป็นอันตรายในรูปแบบต่างๆ ต่อผู้หญิง วัยรุ่นหญิง และประชากรทุกกลุ่ม โดยภารกิจเหล่านี้คือหนทางสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใน พ.ศ.2573

นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุภารกิจ ดังกล่าว UNFPA ประเทศไทย ร่วมทำงานกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency หรือ TICA) อย่างต่อเนื่องยาวนาน ผ่านความร่วมมือ South-South and Triangular Cooperation (SSTC) หรือความร่วมมือแบบใต้-ใต้ และ แบบไตรภาคี และได้พัฒนามาสู่กรอบการทำงานเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมเพื่อสร้างความยั่งยืนในการบรรลุทั้ง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ Three Transformative Results (3TFRs) ซึ่งเป็นภารกิจของ UNFPA ภายใต้แผนงานประเทศ พ.ศ.2565-2569 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง UNFPA และประเทศไทย รวมทั้งกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework) พ.ศ. 2565-2569

“แผนงานของ UNFPA นั้น ได้รับการพัฒนาร่วมกับรัฐบาลไทย กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานของสหประชาชาติ บนหลักการของการอยู่ร่วมกัน สิทธิมนุษยชน และความเสมอภาค โดยคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเปราะบางเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ยังมีการปรึกษาหารือแบบมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางกับผู้ได้รับประโยชน์ และพันธมิตรต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการและเรื่องที่สำคัญต่อพวกเขา โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ การคลอดอย่างปลอดภัย และความปลอดภัยจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ รวมอยู่ในแผนงานด้วย ทั้งนี้ ผู้ได้รับประโยชน์หลักๆ ก็คือ ผู้หญิง วัยรุ่น เยาวชน ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ที่อยู่ในความยากจน โดย UNFPA จะใช้แนวทางที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อเข้าถึงคนเหล่านี้ที่อยู่ห่างไกลที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ร่วมกับพันธมิตรเพื่อจัดการกับความท้าทาย หรือเพิ่มขยายการใช้นวัตกรรมที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ และร่วมมือทำงานกับนักประดิษฐ์จากภาครัฐและเอกชน” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวย้ำ

ด้าน นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้แผนงานประเทศ (CPD 12th) พ.ศ.2565-2569 อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้พบกับผู้อำนวยการ UNFPA ประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2565 ต่อด้วยด้วยการพบกับหน้าสำนักงานประจำประเทศไทยของ UNFPA ในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการหารืออย่างละเอียดถึงประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำงานร่วมกัน รวมทั้งมีการตกลงที่จะเร่งให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs), ICPD-PoA, นโยบายและแผนระดับชาติเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์, และแผนงานประเทศ (Country Programme) ระยะ 5 ปี ของ UNFPA ประเทศไทย

“TICA ได้ให้การสนับสนุน UNFPA ประเทศไทย ผ่านความร่วมมือไตรภาคี SSTC มาอย่างต่อเนื่อง การลงนามความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธ์ศาสตร์ในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้กรอบความร่วมมือและการดำเนินงานมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการบรรลุ Three Transformative Results (3TFRs) ซึ่งเป็นภารกิจของ UNFPA นั่นคือการพัฒนาโครงการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งการพัฒนาศักยภาพการผดุงครรภ์ การยกระดับการศึกษาและแนวปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมพยาบาลผดุงครรภ์และบุคลากรด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้นอันจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตของมารดาและทารก การส่งเสริมบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานระดับโลกของสหพันธ์ผดุงครรภ์นานาชาติ (ICM) ในอาเซียน อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 3 และเป้าหมายที่ 5 โดยการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จะทำให้เรานำพาประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” นางอุรีรัชต์กล่าว