“การเคหะแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และผู้มีรายได้ปานกลาง
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า “เคหะชุมชนดินแดง” หนึ่งในโครงการภายใต้การดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยืน
โครงการรณรงค์การคัดแยกขยะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง และธนาคารสัจจะรีไซเคิลเคหะชุมชนดินแดง เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลพัฒนาชุมชนร่วมกัน
นางสาวกฤชอร อาสน์ทอง ประธานกลุ่มธนาคารสัจจะรีไซเคิล เคหะชุมชนดินแดง 2 บอกเล่าว่า โครงการคัดแยกขยะรีไซเคิลของเคหะชุมชนดินแดง 2 เริ่มมาตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ด้วยการสนับสนุนของการเคหะแห่งชาติ เพื่อลดปริมาณขยะจากต้นทาง โดยเริ่มจากการหาสมาชิก อบรมให้ความรู้ และวิธีการจัดการขยะตั้งแต่ที่บ้านของตนเอง ซึ่งแต่เดิมถ้าเก็บเองและนำไปขายเองก็จะได้เงินจำนวนไม่มากนัก แต่พอมาร่วมกันทำ เอาขยะมาฝาก “ธนาคารสัจจะรีไซเคิล” ได้กลับไปเป็นเงินในรูปแบบเงินฝาก ทำให้มีการประชาสัมพันธ์บอกต่อ ๆ กันแบบปากต่อปาก คนในชุมชนก็หันมาสนใจมากขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิก 190 คนแล้ว
ในการขายขยะจะมีคนเข้ามารับซื้ออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย ผ่านไลน์กลุ่ม ว่าเดือนนี้เราจะรับซื้อขยะวันไหน สมาชิกจะได้เตรียมแยกให้พร้อม ครั้งล่าสุดได้เงินประมาณ 4,000 กว่าบาท น้ำหนักขยะที่ขายไป585 กก. ขณะนี้มียอดเงินสะสมในธนาคารประมาณ 70,000 กว่าบาท
สิ่งของที่จะนำเข้ามาฝากธนาคารสัจจะรีไซเคิล ทุกอย่างจะต้องรีไซเคิลได้ เช่น ขวดใส ขวดขุ่น ขวดเบียร์ แต่กรณีขวดเบียร์ต้องนำมาขายเป็นลังถึงจะได้ราคา ซึ่งเรื่องพวกนี้เราก็จะถามจากคนรับซื้อว่าต้องคัดแยกอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเราก็ต้องคอยให้ความรู้กับสมาชิกเพื่อที่เค้าจะได้คัดแยกได้ถูกประเภทเพราะจะส่งผลให้สมาชิกได้เงินจากการขายมากขึ้นตามไปด้วย นี่เป็นที่มาว่า “ไม่ได้รับซื้อขยะ” แต่ “รับซื้อของรีไซเคิล”
“การเคหะแห่งชาติช่วยส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแล ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา บางครั้งเกิดปัญหาคนไม่พอ ก็ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยทันทีโครงการนี้ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะใช้ชื่อลูกหลานในการเป็นสมาชิก ถึงวันขนขวดมาขาย ก็ให้หลาน ๆ ช่วยกันขน เป็นการปลูกฝังพวกเขาไปด้วย ว่าของพวกนี้มันมีราคานะ ถ้าเก็บดี ๆ ก็เอามาขายได้เงินไปซื้อขนมกินและช่วยกันจัดการขยะชุมชนส่วนรวม ทำให้บ้านเราน่าอยู่ด้วย” นางสาวกฤชอร กล่าว
ด้าน นางบุญถึง อินทรทัต รองประธานคณะกรรมการชุมชน โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) บอกเล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อสวัสดิการชุมชนจะแตกต่างจากทั้งโครงการเคหะชุมชนดินแดง 1 และ 2 แต่เป็นการทำต่อเนื่องมาจากพื้นที่เดิมก่อนที่ย้ายมาที่นี่ปัจจุบันจึงมีทั้งสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่จำนวน 126 คน และเงินที่ได้จากการขายส่วนหนึ่งจะนำมาสนับสนุนทำซุ้มอาหารในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ วันเด็ก สงกรานต์ เป็นต้น เพื่อแจกคนที่มาร่วมงาน
ขณะเดียวกันเงินอีกส่วนหนึ่งก็จัดสรรเป็นสวัสดิการของสมาชิก ถ้าครอบครัวไหนมีผู้เสียชีวิตก็จะได้รับค่าทำศพ 1,000 บาท ส่วนสมาชิกเก่าที่อยู่มาก่อนก็จะได้รับเงินสวัสดิการเป็น 2 เท่า คือ2,000 บาท ซึ่งการเป็นสมาชิกไม่ต้องลงทุน เพียงแค่นำขยะมาเข้าร่วมโครงการฯ และได้มีการอธิบายให้ลูกหลานฟังว่า ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนริเริ่มกิจกรรมนี้ แต่ปัจจุบันนี้อาจจะมาทำไม่ไหว ก็ให้เขารับช่วงสมัครเป็นสมาชิกต่อ แม้ว่าจำนวนเงินไม่มากแต่ก็จะเป็นการส่งต่อสิ่งดี ๆ ที่ได้ทำร่วมกันทั้งต่อตัวเองและชุมชน
“ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดก็คือความสามัคคีของคนในชุมชนรวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกให้ช่วยกันคัดแยกขยะ บางคนไม่ได้เป็นสมาชิกแต่ก็มาร่วมกิจกรรมเพราะอยากช่วย และคนที่เป็นสมาชิกก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นตามสวัสดิการที่ตกลงกัน ซึ่งตนเองดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการนี้” นางบุญถึง กล่าวย้ำ