“โครงการเคหะชุมชนห้วยขวางถือเป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่หรือชุมชนขนาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของการเคหะแห่งชาติอีกหนึ่งชุมชน เริ่มจัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 มีอาคารพักอาศัย จำนวน 38 อาคาร รวมทั้งสิ้น 3,360 หน่วย และบริเวณรอบชุมชนยังมีอาคารพาณิชย์ ตลาดสดห้วยขวาง แผงประกอบการค่าต่าง ๆ ปัจจุบันโครงการเคหะชุมชนห้วยขวางมีการอยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 60 ปี จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนทั้งในส่วนของอาคารพักอาศัยและสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อความมั่นคงในการอยู่อาศัยและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพราะหากจะนับกันไปแล้ว ที่นี่เป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบยุคแรก ๆ ของการพัฒนา “อาคารประเภทแฟลต” ซึ่งได้รับการออกแบบและวางองค์ประกอบของชุมชนไว้อย่างดี ทั้งด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมายาวนาน จากชุมชนผู้มีรายได้น้อยกลายเป็นชุมชนเมืองที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กับย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานคร มีการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน ทั้งด้านกายภาพ สังคม การอยู่อาศัย และเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชน ได้มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
การเคหะแห่งชาติจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาดำเนินการ “โครงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดทำโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง” เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้เบื้องต้นในการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง โดยให้ความสำคัญทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อการฟื้นฟูเมือง การรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่ นำไปสู่การวางแผนการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางในอนาคต
สำหรับกิจกรรมในกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการฯ ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์และชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการฟื้นฟูชุมชนห้วยขวางให้ผู้อยู่อาศัยรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop ครั้งแรก เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนได้ร่วมกันเสนอแนะความต้องการและแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูเคหะชุมชนฯ ร่วมกัน การจัดสนทนากลุ่ม หรือ Focus Group พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นปัญหาชุมชน แนวทางการแก้ไข ความต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และเสนอแนะแนวทางพัฒนาโครงการ รวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย/ระดับปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน และหลังจากนั้นจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop ครั้งที่ 2 เพื่อเสนอแนวคิดการออกแบบและวางผังโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางเบื้องต้นและรับฟังความคิดเห็นร่วมกันอีกครั้ง
“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางยังอยู่ในช่วงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดทำโครงการ การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญและการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชน เพราะการปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่อาศัย เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องปรับตัว แต่จะปรับอย่างไรก็ต้องฟังเสียงผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก และหาแนวทางความเป็นไปได้จากความคิดเห็นเหล่านั้นประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ แล้วนำมาเป็นแผนในการทำโครงการต่อไป เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือให้พี่น้องประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ควบคู่กันไปด้วย” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวย้ำ