สวธ.จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ปลุกเยาวชนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้ศิลปะการแสดง 4 ภูมิภาคของประเทศ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าว การจัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคเหนือ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร ผู้แทนสมาคมศิลปินพื้นบ้าน เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสินการประกวด 4 ภูมิภาค เข้าร่วมการเสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะและเทคนิคการแสดงเพื่อสร้างสรรค์และออกแบบชุดการแสดงเพื่อการประกวด ณ โถงชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายอิทธิพล กล่าวว่า ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคจะมีศิลปะการแสดงที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในปัจจุบันดนตรีและการแสดงพื้นบ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอด อาจเสี่ยงต่อการสูญหาย กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุน อนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิตและความเป็นไทย ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของดนตรีและการแสดงพื้นบ้านซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของคนไทย
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม อนุรักษ์ ผลักดันให้ ดนตรี และการแสดงพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค ยังคงอยู่กับประเทศไทย ผ่านการสานต่ออย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน มาตลอด 15 ปี ผ่านการจัดกิจกรรมการประกวดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พุทธศักราช 2549 จนถึงปัจจุบัน สำหรับการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านในปีนี้ ยังคงจัดภายใต้แนวคิด “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้คณะนักแสดงได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์ชุดการแสดงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดี วรรณกรรมพื้นบ้าน ประเพณี ที่สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งได้มีการเปิดรับสมัครเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 ทั้งนี้ มีทีมที่สมัครเข้าร่วมประกวดร่วม 40 ทีม
ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านมาแล้ว 15 ครั้ง เริ่มจาก พ.ศ. 2549 และตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” และเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สร้างความสนใจให้เกิดกระแสอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน สร้างมิติใหม่ให้วัฒนธรรมมีความร่วมสมัย ยกระดับขีดความสามารถของดนตรี พัฒนาเทคนิคทางการแสดง ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดของแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง
นายโกวิท กล่าวต่อว่า การจัดประกวดในปี 2566 นี้ มีความพิเศษตรงที่ไม่จำกัดอายุของผู้เข้าประกวดเพื่อมุ่งส่งเสริม รักษา ต่อยอด และเปิดพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านในแขนงต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสร่วมถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดง และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปสู่สายตาประชาชนโดยมีกำหนดจัดการประกวดใน 4 ประเภท ดังนี้ 1) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด 3) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา และ
4) การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัลรวม (๔ ภาค) 1,000,000 บาท ประกอบด้วย -รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ เงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร -รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร -รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และ -รางวัลชมเชย ภาคละ 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมการประกวด และข้อมูลทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ line@วัฒนธรรม
ในการแถลงข่าว ยังมีการเสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะและเทคนิคการแสดงเพื่อสร้างสรรค์และออกแบบชุดการแสดงเพื่อการประกวด คณะกรรมการตัดสินการประกวด 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย นายธนวัฒน์ ราชวัง ประธานกรรมการตัดสินการประกวดภาคเหนือ ผศ.ขวัญใจ คงถาวร กรรมการตัดสินการประกวดภาคกลาง ผศ.สุขสันติ แวงวรรณ กรรมการตัดสินการประกวดภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ และนายพงศ์พันธ์ เพชรทอง กรรมการตัดสินการประกวดภาคใต้ ร่วมแนะนำแนวทางการสร้างสรรค์การประกวดเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการประกวดแต่ประเภท อีกด้วย