หมอเพชรดาว ชี้นโยบายกู้ชีพฉุกเฉิน เป็นหน้าที่ทุกภาคส่วน สานพลัง กลุ่มลูกเหรียง จ.ยะลา สสส. ให้ความรู้เด็ก – เยาวชน ปักหมุดกลุ่มเสี่ยงจมน้ำ พร้อมฝึกทักษะ กู้ชีพ กู้ภัย เตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุและภัยพิบัติ

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา เลขานุการคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา “การกู้ชีพ กู้ภัย และการจัดการสาธารณภัยเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติ” ณ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) จ.ยะลา

พญ.เพชรดาว กล่าวว่า การปฐมพยาบาลเบื้องต้นมี ความจำเป็นที่ต้องได้รับการฝึกอบรมที่ถูกต้อง เพื่อให้พร้อมต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน หลักสูตรการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิธีการช่วยเหลือและฝึกปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์เพื่อให้ฝึกปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

พญ.เพชรดาว กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการประชุม ควบคู่กับการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ วางแนวทางป้องกัน อย่างที่ จ.ปัตตานี ระหว่างเดินทาง เคยพบเด็กจมน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ โดยไม่มีอะไรแจ้งเตือนว่าเป็นเขตอันตราย ช่วยเหลือทำ CPR จนถึง โรงพยาบาล ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน เพราะเด็กจมน้ำนาน 15 นาที และญาติช่วยเหลือผิดวิธีก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉินพบเจอ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คณะกรรมาธิการฯ เดินหน้าทำงานเชิงรุก ตั้งเป้าแก้ปัญหาไปที่เด็ก-เยาวชน ที่บ้านอยู่ติดริมน้ำ ริมทะเล หรือในละแวกชุมชน ห้วย หนอง คลอง บึง ที่อาจสุ่มเสี่ยงอันตราย ในภาคใต้ได้ร่วมกับกลุ่มลูกเหรียง จ.ยะลา และ รร.เดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี เพราะมองว่าเด็ก-เยาวชน โดยเฉพาะเด็กอายุก่อน 14 ปี จะมี Growth Mindset สามารถจำ ทำ เลียนแบบ และส่งต่อการเรียนรู้แบบพี่สอนน้องได้ โดยเฉพาะคำว่า “ตะโกน โยน ยื่น” เมื่อพบเจอคนจมน้ำ เหตุฉุกเฉิน

“ขอบคุณ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นกู้ชีพฉุกเฉิน ที่ผ่านมาทางคณะกรรมาธิการฯ จะมีการจัดสัมมนา ถอดบทเรียน ลงพื้นที่ได้แค่ปีละ 2 ครั้ง ในการจัดการเรื่องปัญหาเด็กจมน้ำ การทำงานร่วมกับสสส. จะสามารถสร้างแกนนำ และปลูกฝังเด็ก – เยาวชน รวมถึงแกนนำท้องถิ่น คนในท้องถิ่นที่ให้รู้วิธีการกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงช่วยเรื่องการปักหมุดจุดอันตรายเสี่ยงจมน้ำได้มากขึ้น จากพลังภาคีเครือข่ายของ สสส. ที่มีทั่วประเทศ ป้องกันความสูญเสียที่ไม่มีใครต้องการพบเจอ จากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด” พญ. เพชรดาว กล่าว

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตในไทยโดยส่วนใหญ่เกิดจาก โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และอุบัติเหตุ จมน้ำ ผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บเหล่านี้บางรายอาจมีภาวะการหยุดหายใจกะทันหัน ถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะช่วยให้ฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ก็จะเกิดสภาวะการตายของสมองอย่างถาวร การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เป็นวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิตให้สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ หรือที่เรียกว่า CPR มีการศึกษาวิจัยที่ว่าหากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือทันทีหลังจากหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที จะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากกว่า 4 เท่า อีกทั้งยังเป็นมาตรฐานการเข้าช่วยชีวิตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติอีกด้วย ดังนั้นการได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีการส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บไปยังแพทย์หรือสถานพยาบาลอย่างเหมาะสมรวดเร็ว และถูกวิธีจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตและกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบกู้ชีพ-กู้ภัย ที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนและพัฒนางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่จะทำให้หน่วยกู้ชีพมีความรู้ความสามารถในการเข้าช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในระดับพื้นที่ได้ทันในระดับเบื้องต้น เช่น หลักสูตร FR (First Response) ที่พัฒนาขึ้นให้กับทีมกู้ชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดจนการให้ความรู้กับประชาชนในเบื้องต้นร่วมกับกรม ปภ. เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุหรือผู้ป่วยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังจัดทำสื่อในรูปแบบคลิปวิดีโอ สร้างความรู้การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา ในชื่อ “AED กระตุกหัวใจ เครื่องมือช่วยชีวิต ที่ทุกคนใช้ได้” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED)” เพิ่มโอกาสรอด ลดความสูญเสีย และช่วยเหลือไม่ให้หัวใจใครต้องหยุดเต้น สามารถรับชมได้ทางช่องทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ThaiHealth https://www.facebook.com/thaihealth/videos/1071495907065358