หนึ่งในโครงการสำคัญของการเคหะแห่งชาติคือ “โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง” ซึ่งมีแผนการพัฒนาที่แตกต่างกันตามสภาพอาคารที่อยู่อาศัยและที่ตั้งโครงการ โดยให้ความสำคัญต่อความต้องการและการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุขเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึง โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองที่มีหลายโครงการ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ซึ่งได้รับการพัฒนาได้พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยโดยกรมประชาสงเคราะห์มาตั้งแต่ปี 2493 จากเดิมเป็นที่ทิ้งขยะมูลฝอยของเทศบาลนครกรุงเทพและทุ่งนา กลายเป็นชุมชนแออัดเพราะมีผู้เข้ามาอาศัยหนาแน่น จนกระทั่งปี 2506 มีการก่อสร้างอาคารแฟลตดินแดงทดแทนบ้านไม้เดิมที่ทรุดโทรม เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ถือว่าเป็นอาคารสงเคราะห์รุ่นแรกของประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้รับโอนอาคารแฟลตดินแดงมาจากกรมประชาสงเคราะห์ในปี 2516 จากอายุการใช้งานเกือบ 60 ปี ปัจจุบันอาคารกลุ่มนี้จึงมีสภาพทรุดโทรมมาก การเคหะแห่งชาติจึงได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงเพื่อวางผังการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการปรับปรุงแผนแม่บทเรื่อยมา
รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งผลักดันขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงให้สำเร็จผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการให้ได้มากที่สุด มีการสำรวจข้อมูลและความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ซึ่งผู้อยู่อาศัยมีความพึงพอใจกับขนาดห้องและค่าเช่าตามที่การเคหะแห่งชาติเสนอถึงร้อยละ 98.17 และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในกรอบแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559–2567) โดยโครงการฯ ระยะที่ 1 (อาคารพักอาศัยแปลง G) ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และบรรจุผู้อยู่อาศัยครบถ้วนแล้ว
ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินงานพัฒนาโครงการในระยะที่ 2 รวมสองอาคาร ได้แก่ 1. อาคารพักอาศัยแปลง A (อาคาร A1) อาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น จำนวน 1 อาคาร 635 หน่วย 2. อาคารพักอาศัยแปลง D1 (อาคาร D1) อาคารพักอาศัยสูง 35 ชั้นจำนวน 1 อาคาร 612 หน่วย คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ แผนพัฒนาชุมชนดินแดง พ.ศ. 2563-2567 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ชุมชนดินแดง เข้มแข็ง น่าอยู่ มั่นคง ยั่งยืน”
นอกจากนั้นแล้วยังมีแนวคิดพัฒนาสู่ Din Daeng Smart Community โดยการเคหะแห่งชาติและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency : DEPA) ได้ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ยกระดับชุมชนอัจฉริยะ Smart City” เมื่อ 6 สิงหาคม 2564 เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและยกระดับชุมชนอัจฉริยะ Smart City ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีมาตรฐาน มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย และทันสมัยอีกด้วย
โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง เป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตห้วยขวางที่เป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจและพื้นที่พาณิชยกรรม มีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 183 ไร่ สร้างขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2499 โดยที่อยู่อาศัยระยะแรกมีจำนวน 480 หน่วยปัจจุบันมีหน่วยพักอาศัยรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,360 หน่วย ประกอบด้วยอาคารพักอาศัย 4 ชั้น และ 5 ชั้น รวม 38 หลัง
การอยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 60 ปี และจากการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน ทั้งด้านกายภาพ สังคม การอยู่อาศัยเศรษฐกิจของชุมชน และการเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้เกิดความแออัด และเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ดังนั้น โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง จึงได้ถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560–2579) มีแผนงานโครงการดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 2,271,080 หน่วย ซึ่งโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง ได้ถูกบรรจุในแผนยกระดับคุณภาพชีวิต(เช่า) จำนวน 20,000 หน่วย รองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้น้อย จำนวน 14,000 หน่วย รองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้ปานกลาง จำนวน 4,000 หน่วย และรองรับกลุ่มผู้มีรายได้สูง จำนวน 2,000 หน่วย
โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา เป็นโครงการที่อยู่อาศัยชุมชนชานเมืองของการเคหะแห่งชาติ ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 บนพื้นที่โครงการขนาด 52.045 ไร่ ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัยสูง 5 ชั้น จำนวน 490 หน่วย บ้านแถวสองชั้น จำนวน 322 หน่วย รวมทั้งร้านค้าและบริการสาธารณะ และเนื่องจากอยู่อาศัยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ประกอบกับความเสียหายจากอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ทำให้โครงสร้างอาคารได้รับความเสียหาย รวมถึงปัญหาอื่น ๆ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราจึงถูกบรรจุไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) อยู่ในแผนยกระดับคุณภาพชีวิต จำนวน 4,000 หน่วย ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565–2569) รองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้น้อย จำนวน 2,800 หน่วย รองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้ปานกลาง จำนวน 800 หน่วย และรองรับกลุ่มเป้าหมายรายได้สูง จำนวน 400 หน่วย โดยมีแนวคิดการออกแบบตามแนวทาง Universal Design เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุและผู้พิการโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง เป็นโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ จัดทำขึ้นตามแผนเร่งรัดของการเคหะแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2522–2525 เพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย บนพื้นที่โครงการขนาด 29.82 ไร่ ประกอบด้วย อาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารแฟลต) สูง 5 ชั้น จำนวน 1,369 หน่วย รวมร้านค้าและส่วนบริการสาธารณะ ปัจจุบันโครงการเคหะชุมชนทุ่งสองห้องมีสภาพทรุดโทรมทั้งในส่วนอาคารพักอาศัย สภาพแวดล้อม และระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการ เนื่องจากมีการอยู่อาศัยเป็นเวลากว่า 38 ปี ประกอบกับความเสียหายจากอุทกภัยใน พ.ศ. 2554ทำให้โครงสร้างอาคารได้รับความเสียหาย และโครงการมีระดับต่ำกว่าถนนประมาณ 80 เซนติเมตร และปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น การเคหะแห่งชาติจึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยในชุมชนจัดทำฐานข้อมูลผู้เช่าที่อาศัยอยู่ในชุมชน 1,369 หน่วย การจัดทำแผนแม่บทโครงการฯ และแนวทางการลงทุนที่สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของการเคหะแห่งชาติ โดยมีความคิดเห็นจากผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นสำคัญ รวมทั้งประสานความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายในการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง นำเสนอคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบก่อนนำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป