ชาวเชียงใหม่อุ่นใจ สสส.-มช. เดินหน้าโครงการ “Chiang Mai Greentopia” ช่วยลดสารเคมีตกค้างในเลือดได้สูง ภายใน 2 ปี ลดเหลือ 66% จาก 90% ยกระดับเป็น “ต้นแบบระบบอาหารเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่” ทวงคืนนิเวศเกษตรไร้สารเคมีตกค้าง สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ ปลูก ขาย เสิร์ฟถึงผู้บริโภค เตรียมขยายผล ภาคเหนือไร้สารเคมี 50% ภายในปี 68 เน้นลดเผาภาคการเกษตรต้นเหตุ PM2.5

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 ที่สวนผักฮักร้องขุ้ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ตัวแทนเกษตรกร ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ติดตามการดำเนินงานโครงการ Chiang Mai Greentopia : ต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่วิถีการบริโภคอาหารอินทรีย์เพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนา “ระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่” ส่งเสริมให้หมุนเวียนสินค้าการเกษตรในพื้นที่ไปสู่การบริโภคที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมแปลงผักสาธิต และสุ่มวัดสารเคมีจากตัวอย่างผักผ่านนวัตกรรม “Lab ทดสอบสารเคมีในพืชผัก”

ศ.ดร.พวงรัตน์ แก้วล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ในฐานะผู้จัดการโครงการ Chiang Mai Greentopia สสส. กล่าวว่า โครงการ Chiang Mai Greentopia ดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านอาหารเพื่อสุขภาวะของ สสส. 4 ด้าน 1.สร้างความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ (Food Literacy) ส่งต่อความรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะให้เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ นำไปสู่การพัฒนาแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชน เกิดพลเมืองอาหารและชุมชนอาหารกว่า 500 ราย 2.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ (Food Environment) เกิดเครือข่ายตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม กระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคกว่า 200 แห่ง

ศ.ดร.พวงรัตน์ กล่าวต่อว่า 3.ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจอาหารชุมชน (Food Economy) เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง และสร้างระบบเศรษฐกิจ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนในภาคบริการอาหารให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มคนรักสุขภาพ และนักท่องเที่ยว 4.ส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายด้านอาหาร (Food Policy Advocacy) ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน สร้างระบบนิเวศเกษตรไร้สารเคมีการเกษตร ลดการเผาภาคเกษตรต้นเหตุ PM2.5 เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพความปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ PGS และมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9002-2559

“ผลจากการขับเคลื่อนประสบความสำเร็จ จากผลสุ่มตรวจเลือดของชาวเชียงใหม่ 400 คน ล่าสุด เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2567 พบสารเคมีตกค้างในเลือดลดเหลือ 66% จากเดิม 90% ในปี 2565 และพบสารเคมีตกค้างในเลือดอยู่ในระดับที่ปลอดภัยเพิ่มเป็น 34% จากเดิม 10% ในปี 2565 ส่งผลให้การจัดอับดับจังหวัดที่ประชากรมีสารเคมีตกค้างในเลือดของ จ.เชียงใหม่ ลดลงมาอยู่อับดับ 4 จากเดิมสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าขยายผล โดยเพิ่มระดับปลอดภัยของสารเคมีตกค้างในเลือดให้อยู่ที่ 50% ภายในปี 2568 พร้อมเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้ข้อมูลชุมชนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากมลพิษและประโยชน์ของการเกษตรอินทรีย์ และขยายผลสร้างพลเมืองอาหารและพื้นที่กระจายผลผลิตที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภคในพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง” ผู้จัดการโครงการ Chiang Mai Greentopia สสส. กล่าว

พญ.วิมาลา วิวัฒน์มงคล แพทย์ประจำศูนย์การแพทย์ศรีพัฒน์ มช. กล่าวว่า สารเคมีการเกษตรที่ใช้ฉีดพ่นพืชผักหลายชนิดสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทั้งจากสัมผัส รับประทาน และสูดดม หากได้รับพิษแบบเฉียบพลันจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่า ซึ่งอาการจะเกิดเร็วหรือมาก ขึ้นอยู่กับปริมาณสารเคมีที่ได้รับ หากมีอาการต้องเร่งพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโดยทันที หรือหากสะสมสารพิษระยะยาวจะส่งผลอาจทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ ขาดความยืดหยุ่น ความดันโลหิตผิดปกติ เสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดของโลก

“การเลือกปลูก/บริโภคผักพื้นบ้านอินทรีย์ที่อุดมไปด้วยสารอาหารและปราศจากสารเคมีการเกษตรเป็นวิธีช่วยลดความเสี่ยงและบรรเทาอาการของกลุ่มโรค NCDs อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งตำลึง มะระขี้นก ใบย่านาง กระเจี๊ยบเขียว ฟักทอง ชะพลู มีสารอาหารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และส่งเสริมสุขภาพ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ แร่ธาตุ ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลและความดันโลหิต มีใยอาหารสูง ช่วยลดน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัย รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลระดับครัวเรือนและระดับประเทศ” แพทย์ประจำศูนย์การแพทย์ศรีพัฒน์ มช. กล่าว