วันที่ 25 พ.ค. 2566 ที่ทำการสถานีวิทยุเสียงใสเรดิโอ FM 100.75 MHz ต.ท่าวังผา อ.ท่าวังผา จ.น่าน คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สสส. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน “ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข” 2 พื้นที่ที่มีผลลัพธ์เชิงรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดย ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งพัฒนาพลเมืองในด้านทักษะเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information Digital Literacy : MIDL) และความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้สุขภาวะและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ทักษะการใช้สื่อ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติในการปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมสุขภาวะ
ดร.จิรพร กล่าวต่อว่า จ.น่าน เป็น 1 ใน 36 พื้นที่นำร่องจากทั่วทุกภูมิภาค ที่ดำเนินโครงการเยาวชนพลเมืองรู้เท่าทันสื่อฯ สำหรับ“โครงการสามเณรน่านร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคน” เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกลุ่มสามเณร จำนวน 180 รูป ร่วมกันใช้ทักษะเท่าทันสื่อ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจและคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันตนเอง เท่าทันสังคม และเท่าทันสื่อ กระบวนการเริ่มจากการสำรวจชุมชน เพื่อให้เข้าใจปัญหาและต้นทุน หาแนวทางแก้ปัญหา และออกแบบกิจกรรมและการสื่อสารโดยใช้สื่อวิถีวัฒนธรรมของชุมชนมาสื่อสาร นำไปสู่บทบาทของการเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่เท่าทันสื่อ ที่มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของอัตลักษณ์ที่หลากหลายในชุมชน
นางปิยะฉัตร พูลทรัพย์ ผู้รับผิดชอบโครงการนักสื่อเสียงสร้างคนไทยหัวใจฟู สสส. หนึ่งในนักสื่อเสียงสุขภาวะประจำสถานีวิทยุเสียงใสเรดิโอ FM 100.75 MHz จ.น่าน กล่าวว่า เครือข่ายนักสื่อเสียงสร้างคนไทยหัวใจฟู มีการผลิตสื่อเสียงสุขภาวะและเผยแพร่ผ่าน 66 สถานีวิทยุ ครอบคลุม 10 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค จากข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสุขภาพคนในชุมชน สำรวจโดยนักสื่อเสียงสุขภาวะสร้างคนไทยหัวใจฟู ปี 2565 ประชาชนใน จ.น่าน เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ถึง 50% อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่สำคัญยังพบว่า มีการแชร์ข่าวปลอม ส่งต่อโฆษณาสินค้าสุขภาพที่เกินจริง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ทำให้การออกแบบการสื่อสารของนักสื่อเสียงสุขภาวะมุ่งเน้น 5 เรื่องหลัก 1. ส่งเสริมกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ ให้ตระหนักถึงการออกกำลังกาย 2. ลดพฤติกรรมกิน หวาน มัน เค็ม 3. ทุกช่วงวัยควรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 4. รู้เท่าทันสื่อ 5. อันตรายของฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการใน 3 พื้นที่ คือ ต.ท่าวังผา ต.ป่าคา และ ต.จอมพระ โดยได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กิจกรรมการเต้นออกกำลังกาย กิจกรรมรู้ทันสื่อลดข่าวลวง กิจกรรมประกวดภาพวาด เพื่อนำไปสู่การยกระดับนักสื่อเสียงสุขภาวะให้เป็นแกนนำสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนแล้ว 110 คน
จากนั้น คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการ “สามเณรน่านร่วมออกแบบเมืองสำหรับทุกคน” ที่วัดหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า โครงการนำแนวคิดเรื่องเมืองสำหรับทุกคน (Inclusive City) มาปรับใช้ในการดำเนินโครงการ โดยมีการดำเนินงานในโรงเรียนปริยัติธรรม 3 แห่งใน จ.น่าน ได้แก่ 1. โรงเรียนเชียงกลางปริยัติศึกษา อ.เชียงกลาง โดยร่วมกับ โรงพยาบาลสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน และจิตอาสา พัฒนากิจกรรม “สามเณร Care Giver ผู้ดูแลสุขภาพชุมชน” ดูแลผู้ป่วยติดเตียง สร้างสรรค์สื่อศิลปะ จัดทำการ์ด และตระกร้าเยี่ยมผู้ป่วย เกิดกองทุนผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน และผู้สูงอายุในชุมชน 2. โรงเรียนวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา อ.สันติสุข ร่วมกับภาคีฮักเมืองน่าน พัฒนากิจกรรม “ธรรมยาตรา ปลูกศรัทธาและรักษาสิ่งแวดล้อม” จัดพิธีบวชป่าร่วมกับชุมชน มีการสื่อสารผ่านข้อความบนผ้าบวชป่าที่ใช้สีผ้ามัดย้อมธรรมชาติ พิธีสืบชะตาแม่น้ำ การมัดไม้ไผ่เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำ
น.ส.เข็มพร กล่าวต่อว่า 3. โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม อ.ท่าวังผา ได้ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนากิจกรรม “หนองบัว-เมืองล้า แบรนด์ by สามเณร” ออกแบบตราสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ที่เคารพความหลากหลายของอัตลักษณ์ที่สืบสานมาจากไทลื้อเมืองล้า อาทิ คราฟโซดา (ลื้อซ่า) การทอผ้า เรือนไทลื้อ สร้างเศรษฐกิจบนฐานของชุมชน ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา กระตุ้นให้เกิดความตระหนักว่าเมืองเป็นของทุกคน ทำให้เกิดการสานพลังระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ให้เป็นเมืองสุขภาวะสำหรับทุกคน
“การลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน “ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข” ครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย จ.น่าน ที่สะท้อนผลสำเร็จของผลงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างโอกาสและทางเลือกให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงสื่อและองค์ความรู้ที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้สุขภาพอย่างยั่งยืน” ดร.จิรพร กล่าว