การเคหะแห่งชาติเดินหน้าขับเคลื่อน “โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง” โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ชุมชนดินแดง ชุมชนห้วยขวาง ชุมชนรามอินทรา และมีการจัดประชุมคณะกรรมการการมีส่วนร่วมการดำเนินงานทั้งทางด้านกายภาพและด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติจัดประชุมคณะกรรมการการมีส่วนร่วมการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูชุมชนดินแดง ครั้งที่ 1/2566 โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการการมีส่วนร่วมการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูชุมชนดินแดง กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) ถือเป็นต้นแบบการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองของโครงการอื่น ๆ ที่การเคหะแห่งชาติกำลังดำเนินการเพิ่มเติมอีก 3 พื้นที่ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานอาคารมีความมั่นคงแข็งแรง ชุมชนปราศจากอาชญากรรมยาเสพติด และเกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชนอีกด้วย
ขณะเดียวกันการเคหะแห่งชาติยังได้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 สำหรับอาคารแปลง D1 อาคาร D1 ก่อสร้างได้ร้อยละ 40.69 และแปลง Aอาคาร A1 ก่อสร้างได้ร้อยละ 21.67 ซึ่งคาดว่าทั้งสองโครงการฯ จะสามารถบรรจุผู้อยู่อาศัยได้ภายในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ส่วนสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 เกิดความล่าช้าเพราะต้องชะลอการก่อสร้างเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งปีที่ผ่านมาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างเนื่องจากฝนตกนอกฤดูกาล ทำให้ไม่เป็นไปตามแผนการก่อสร้างที่วางไว้ หากยังดำเนินการก่อสร้างก็จะทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานและอาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้
“จากนี้ไปการเคหะแห่งชาติจะเร่งดำเนินการก่อสร้างพร้อมควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานรวมถึงมี นโยบายจากคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ให้ผู้ประกอบการควบคุมการปฏิบัติงานเพื่อลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง โดยให้ติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 จากกรมอุตุนิยมวิทยาทุกวัน หากวันไหนค่าฝุ่นเกินมาตรฐานก็ให้ปรับลดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดฝุ่น พร้อมวางแนวทางการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น มีแนวกันฝุ่น ผ้าคลุมดินและทรายที่จะใช้ในการก่อสร้าง ฉีดละอองน้ำต่อเนื่องขณะปฏิบัติงาน รวมถึงควรจัดอุปกรณ์และสถานที่ทำความสะอาดล้อและตัวถังรถยนต์ ตลอดจนมีผ้าคลุมกระบะรถยนต์และยานพาหนะช่วงเข้าและออกจากสถานที่ก่อสร้างเพื่อลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างไม่ให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
นอกเหนือจากการพัฒนาด้านกายภาพของที่อยู่อาศัยแล้ว โครงการฟื้นฟูเมืองฯ ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมด้านกระบวนการทางสังคมและการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยอย่างหลากหลาย อาทิ กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ธนาคารสัจจะรีไซเคิลฯ ที่ส่งเสริมการคัดแยกขยะและสร้างรายได้ โครงการกลุ่มเกษตรอาสาพอเพียงซึ่งส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวบนดาดฟ้าโครงการ เป็นต้น การเคหะแห่งชาติยังคงมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้มีรายน้อยและกลุ่มเปราะบาง โดยจะคำนึงถึงการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญตลอดมา” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ