สสส. สานพลังภาคี 4 ภูมิภาค Kick Off “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ปี 66 ต่อยอดสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” เปิดแพลตฟอร์ม happyschoolbreak.com รวม 5,000 กิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างทักษะ ฝึกอาชีพ ลดสารพัดปัจจัยเสี่ยง ตั้งเป้าเข้าถึงเด็กและเยาวชนไทยไม่น้อยกว่า 200,000 คน
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ลงบนแผนที่ประเทศไทย เปิดตัวกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ประจำปี 2566
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ช่วงปิดเทอม และวันหยุด วันว่าง 150 วัน/ปี เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญภาวะเสี่ยงต่างๆ มากมาย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2565 มีเด็กเสียชีวิตราว 800 คน โดย1 ใน 3 เสียชีวิตในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เดือนมี.ค. – พ.ค สาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือการจมน้ำ ขณะที่ข้อมูลศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พบเด็กบาดเจ็บจากสนามเด็กเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานมากถึงปีละ 34,000 คน นอกจากนี้ สสส. พบข้อมูลจากหลายแหล่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ผลักเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์เร็วขึ้น 2-3 ปีและนานถึง 12 ชั่วโมง/วัน เด็ก 44.36% ถูกกลั่นแกล้ง รังแกในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ที่น่าเป็นห่วงคือข้อจำกัดเรื่องจำนวนและคุณภาพแหล่งเรียนรู้ ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้หลายประเภท ทั้งศูนย์ฝึกอาชีพ ห้องสมุด สนามกีฬา เหตุผลหลักคือไกลบ้าน สสส. จึงสานพลังภาคี ริเริ่มโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2561 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดแพลตฟอร์ม happyschoolbreak.com รวบรวมข้อมูล เชื่อมร้อยกิจกรรมสำหรับเด็กหลากหลายช่วงวัย จากหน่วยงาน และเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกิจกรรมได้ง่ายขึ้น
“ปีนี้ สสส. สานพลังภาคี ขับเคลื่อนกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” 4 ภูมิภาค 4 จังหวัดนำร่อง คือ อุตรดิตถ์ กรุงเทพ นครราชสีมา ยะลา มีหน่วยจัดการ ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ มีฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์รองรับเด็กและเยาวชนทั่วจังหวัด และมีอีก 25 จังหวัดเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนด้วย นอกจากนี้ ได้ร่วมกับภาคีนวัตกรรมซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันให้เยาวชนที่ต้องการหางานพาร์ทไทม์ หลังเลิกเรียนและวันหยุดอีกมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง สำหรับปีนี้ สสส.ตั้งเป้าหมายมีภาคีเครือข่ายร่วมเปิดพื้นที่ สร้างกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ไม่น้อยกว่า 500 องค์กร รวม 5,000 กิจกรรมที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้โดยตรงไม่น้อยกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม เราอยากให้เด็กทั่วประเทศได้เข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วงปิดเทอมและวันว่างจึงหวังว่าโครงการนี้จะถูกยกระดับเป็นนโยบายแห่งชาติที่มีเจ้าภาพหลักดำเนินงานต่อเนื่องและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม สานพลังกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรภ.อต.) และเครือข่ายภาคประชาสังคม รัฐ เอกชน ขับเคลื่อนเทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มมาอย่างต่อเนื่องเป็น 10 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เกิดพื้นที่เรียนรู้ 105 พื้นที่ รวม 180 กิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การทำขนมสำหรับเด็ก ว่ายน้ำ ศิลปะ Cover Dance อีกทั้งร่วมกับ มรภ.อต. หนุนเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอยู่ระหว่างผลิตหลักสูตรที่หลากหลายรูปแบบ ตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ทุกช่วงวัย สามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตได้ ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ประกาศเป้าหมายสมัครสมาชิก “เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ของยูเนสโก้ ภายในปีนี้
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานเยาวชนหลายมิติ มีวาระเทศกาลการอ่านและการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่เรียนรู้ กำลังรวบรวมพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน กว่า 200 แห่งทั่วกรุงเทพ เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกเพศ ทุกวัย และ กทม. เตรียมพร้อมสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก้ด้วย
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เทศบาล ให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและเยาวชน มีการสนับสนุนงานหลายด้าน ทั้งการศึกษา สร้างอาชีพ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม โดยงานล่าสุด เทศบาลได้นำชุดของมุสลิมไปสู่เวทีโลก ด้วยการจัดแสดงในงาน “ลอนดอนแฟชั่นวีค” มีการเปิดพื้นที่เรียนรู้หลายแห่ง หลายรูปแบบ รองรับเด็กและเยาวชนทั้งในเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียง สร้าง TK PARK แล้ว 2 แห่ง ปัจจุบันกำลังสนับสนุนให้มี TK PARK 4 มุมเมืองในเทศบาลยะลา และคาดว่าจะสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก้ ภายในปีนี้เช่นกัน