วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร กรมการพัฒนาชุมชน รับการตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน โดยคณะผู้ตรวจรางวัลเลิศรัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ประกอบด้วย นายไมตรี อินทุสุต, นางเมธินี เทพมณี, ศ.ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล, ศ.พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร และนางสาวเบญจมาภรณ์ เลิศวุฒิ ผู้แทนจาก สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมนำเสนอผลการพัฒนาองค์กรและผลงานที่โดดเด่น แก่คณะตรวจประเมินรางวัล

ซึ่งในวันนี้นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้นำภาคี เครือข่ายการพัฒนาชุมชน นำเสนอผลงานและนิทรรศการด้านต่างๆ ที่โดดเด่น ดังนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน โดย “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” จากศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านโรงวัว ต.เสือโฮก จ.ชัยนาท, การน้อมนำตามแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง การปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหาร จากหมู่ 7 บ้านหนองโกวิทย์ ต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว, การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี, การยกระดับการพัฒนาช่องทางการตลาดชุมชนสู่ตลาดออนไลน์ จากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หมู่ 2 บ้านสุขสมบูรณ์ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา, การส่งเสริมผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จากกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย หมู่ที่ 2 ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และการพัฒนาสู่องค์การดิจิทัล จากศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน โดยคณะผู้ตรวจประเมินได้ซักถามในประเด็นที่ต้องการความชัดเจนพร้อมให้ข้อเสนอแนะในการรับการประเมิน

ซึ่งรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) เป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานภาครัฐที่มีการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการได้ทัดเทียมมาตรฐานสากล โดยพิจารณาจากเกณฑ์การประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) โดยภาครัฐต้องปรับตัวและต้องพลิกโฉมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐสู่สังคมดิจิทัลที่มี การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัลท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาได้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมหน่วยงานภาครัฐสู่ระบบราชการ 4.0 (Government 4.0 หรือ Gov. 4.0)