วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก รุ่นที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “โอกาสทางการตลาดการสร้างรายได้และทบทวน Case study” และทีมวิทยากรจากภาคเอกชน นางภาวินี ไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายพิเศษ เรื่อง บทบาทบริษัทประชารัฐฯ กับการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม” นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี บรรยายพิเศษ เรื่อง “ประสบการณ์การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ” นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและที่ปรึกษา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน บรรยายพิเศษ “แนวทางการปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจค้าปลีก” นางสาวธีรดา ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกลยุทธ์การตลาด ท็อปส์ท้องถิ่น อภิปรายทางการตลาด ในหัวข้อ “แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาด” นายร่องกี้ พลเยี่ยม ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก บรรยายเรื่อง การสร้างเครือข่าย SE ภาคอีสาน การเชื่อมต่อตลาดกับภาคเอกชน และคณะผู้ตรวจราชการกรม พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด/พัฒนาการจังหวัด/ผู้แทนบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และนักวิชาการพัฒนาชุมชน ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20 จังหวัด เข้าร่วมประชุมฯ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริม สนับสนุน และเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผู้ประกอบการและเครือข่ายธุรกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม และสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคง เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข ซึ่งในการจัดประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 กรกฎาคม 2565 ภายใต้มาตรการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ในโอกาสนี้ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พบปะกับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านสื่อวีดีทัศน์ และได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการให้บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดทุกจังหวัดสามารถขับเคลื่อนได้ ภาคเอกชนมีการเชิญประชุมทั้งประธานและท่าน MD ในฝั่งราชการมีการเชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้มีความสำคัญโดยเฉพาะคณะกรรมการ คสป.ของจังหวัด มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ท่านก็เห็นว่าจะต้องเชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้มอบหมายให้ดูแลเศรษฐกิจฐานรากได้มาประชุมด้วย ดังนั้น วันนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ภาคราชการและภาคบริษัทได้มาเจอกัน ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์นำปัญหาต่างๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร โดยมีเป้าหมายหลังจากประชุมครบ 4 ภาค แล้วจะขับเคลื่อนอย่างไรให้มีผลเป็นรูปประธรรม บริษัทประชารัฐรักสามัคคีสามารถเดินต่อได้และอยู่ได้ด้วย อย่างน้อยต้องมีรายได้เข้ามา สามารถบริหารจัดการได้ ในส่วนของผมเองจะขอนำเรียนข้อสั่งการของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนบริษัทประชารัฐ ประกอบด้วย 7 ข้อหลักๆ ขอเรียนท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัดโดยเฉพาะภาคราชการได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องประการที่ 1 ต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทำหน้าที่เสมือนนายกรัฐมนตรีของจังหวัดของอำเภอ ความหมายก็คือว่า นำส่วนราชการและภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเปลี่ยนแปลง สร้างทีมงาน ในระดับจังหวัด ในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ให้มีความเข้มแข็ง มีผู้นำความเปลี่ยนแปลง ข้อ 2 คือการขับเคลื่อนและพัฒนาผ่านกลไกบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด โดย คสป.และบริษัทประชารัฐ รักสามัคคี ร่วมกันพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกัน ข้อ 3 พัฒนาการจังหวัดต้องเป็นผู้นำในการเชิญชวนภาคเอกชนที่มีความพร้อมที่มีความเสียสละในการดำเนินการ ตามหลักการที่สำคัญ คือ รัฐสนับสนุน เอกชนขับเคลื่อน ประชาชนลงมือทำ ซึ่งตรงนี้ถ้าสามารถทำได้ตามหลักการนี้ก็จะสามารถทำให้เศรษฐกิจฐานรากของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี และภาพรวมของจังหวัดมีความเข้มแข็ง พี่น้องประชาชนก็จะได้ประโยชน์ชุมชนจะได้ประโยชน์ งานสำคัญทั้ง 3 เรื่องขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การแปรรูป หรือการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งทีมงานในการขับเคลื่อนที่มีความเข้มแข็งและเหมาะสม ข้อ 4 อันนี้เป็นการเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้จัดประชุม คสป. ร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จังหวัด อย่างต่อเนื่องเป็นประจำอย่างน้อยเป็นเดือนละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีงานสำคัญเข้ามาก็สามารถประชุมได้มากกว่า 1 ครั้ง รวมทั้งอาจจะแบ่งเป็นคณะทำงานที่อาจจะมาศึกษาข้อมูลศึกษาประเด็นต่าง ๆ ก่อนเข้าประชุม คสป. ข้อ 5 นำผลสำเร็จของบริษัทประชารัฐมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีความสำคัญ ท่านมาเจอกันทั้งหมด 20 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็สามารถนำความสำเร็จของบริษัทประชารัฐของจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ มาแลกเปลี่ยนกันนำปัญหามาพูดคุยกัน ข้อ 6 ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำว่าข้าราชการต้องมีความรักในการทำงาน มีจิตใจทุ่มเทและข้าราชการทุกคนในวันนี้ที่มาก็คือพัฒนาการจังหวัดและทีมงานต้องเป็น staff ที่ดีให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นสตาร์ฟที่ดีให้กับผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ประการสุดท้ายบทบาทของภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคจะต้องเป็นผู้นำในการชี้นำให้คำแนะนำ สนับสนุน การดำเนินงานของบริษัทประชารัฐ รักสามัคคี และยังเน้นย้ำมาว่าในการขับเคลื่อนงานของทุก ๆ เรื่องของทุกภาคราชการจะต้องขับเคลื่อนด้วยการจับมือเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อที่จะให้เกิดพลังในการทำงาน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และภาคสื่อมวลชน มีความสำคัญที่จะต้องมีความทำงานร่วมกัน ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความเข้มแข็งไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะค้นหาให้เจอแค่ไหน อย่างไร โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่แล้วเครือข่ายต่างๆ มีความเข้มแข็ง ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยก็มีความเห็นว่า ความสำเร็จต่างๆ เกิดขึ้นด้วยการที่จะทำอย่างไรให้คนมีความเข้มแข็งมีคุณภาพและถ่ายทอดลงไปการขับเคลื่อน และยังทิ้งท้ายย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด คือ นายกของจังหวัดต้องเห็นภาพรวม ท่านนายอำเภอก็คือนายกของนายอำเภอ และสำคัญก็คือการบูรณาการเป็นทีมให้เกิดการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อธิบดี พช.กล่าว