ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ให้กำลังใจกลุ่มอิสลามบาติก ประยุกต์ลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” สู่งานบาติกของคนนคร ในการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ให้กำลังใจกลุ่มอิสลามบาติก โดยมี นายเอกชัย อิสลาม ประธานกลุ่มอิสลามบาติก และสมาชิกกลุ่มฯ ให้การต้อนรับ ณ กลุ่มอิสลามบาติก ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายเอกชัย อิสลาม ประธานกลุ่มอิสลามบาติก บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการประยุกต์ลายผ้าพระราชทาน ว่า “เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ พระองค์ทรงค้นคว้าผ้าลวดลายโบราณจากพื้นถิ่นอีสานเหนือ แถบจังหวัดนครพนม ที่ปรากฏอยู่บนฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้แก่ ผ้าขิดลายสมเด็จ ผ้าลายนาคชูสนและผ้าลายต้นสน และทรงนำมาออกแบบและผสมผสานให้เกิดความร่วมสมัย เป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่แฝงด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง จุดประกายทางความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ช่างทอผ้า สามารถนำไปพัฒนาลวดลายของผืนผ้าให้มีความร่วมสมัย แฝงด้วยความหมายและประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทอผ้าในประเทศไทย โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ประจำถิ่นของตน ซึ่งแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง กล่าวคือ 1) ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ส่งออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึง ความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ 2) ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย 3) ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข 4) ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนพื้นผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ 5) ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

นายเอกชัย อิสลาม ประธานกลุ่มอิสลามบาติก กล่าวว่า “ตนเองรู้สึกซาบซึ้งใจในพระกรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพระราชทานลายผ้าให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ขยายสู่คนในชุมชน ไปถึงการตัดเย็บ ตนเองจึงน้อมนำมาออกแบบและประยุกต์ให้เข้ากับเอกลักษณ์พื้นถิ่นของคนนครและตั้งใจว่าจะต้องเป็นกลุ่มผ้าบาติกกลุ่มแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่สามารถผลิตชิ้นงานผ้าบาติกลาย “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้ได้ และส่งผ้าเข้าร่วมในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ให้สมกับน้ำพระราชหฤทัยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้มอบให้แก่ผู้ผลิตผ้าทุกคน และมุ่งหวังให้ผ้าไทย หัตถศิลป์ไทย คงอยู่คู่กับคนไทยไปตราบนานเท่านาน

ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน กล่าวให้กำลังใจแก่สมาชิกกลุ่ม “ขอเป็นกำลังใจให้กับสมาชิกกลุ่มทุกคนในการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า พร้อมทั้งเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ต่อยอดการพัฒนาลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ขอให้ตั้งใจ และพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ สามารถเป็นต้นแบบผ้าตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนต่อไป