กรมการพัฒนาชุมชน จัดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับ ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นำไปพัฒนา ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น

วันที่ 27 พ.ค. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) กิจกรรมที่ 1 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.ดร. ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ดร.ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ THEARTE คุณตะวัน ก้อนแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น VOGUE THAILAND MAGAZINE นายพลพัฒน์ อัศวะประภา Fashion Designer นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น คุณสุนทร วาณิชย์มงคล คุณสมัย ชำนาญอาสา ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใย คุณบังอร ตรีเมืองปัก คุณอำภาภรณ์ ศรีโหม้ คุณปริญญาภา อยู่ประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า ช่างทอผ้า สมาชิกศิลปาชีพ จ.เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา และเชียงราย สมาชิกทอผ้าฝ้ายโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และสมาชิกทอผ้าฝ้ายโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านแม่ตุงติง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มากกว่า 60 กลุ่มเข้าร่วม ณ โรงแรมมีเลีย อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของคนไทย โดยในปี 2565 นี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพในด้านการออกแบบผ้าไทยและด้านแฟชั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2565 นี้ด้วย

“ขอให้พวกเราทุกคนได้มีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมของบรรพบุรุษผ่านลวดลายรูปแบบที่รังสรรค์บนผืนผ้าไทย เฉกเช่นที่พระองค์ท่านได้ทรงทำให้เป็นตัวอย่าง ด้วยการพัฒนาต่อยอด “ผ้าขิดลายสมเด็จ” เป็น “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” โดยยึดแนวทางเราต้องเคารพในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คำนึงถึงรสนิยมผู้บริโภค ใส่หัวใจ ความรัก ความชอบ เข้าไปในชิ้นงานของเรา และลงมือทำ ออกมาเป็นความงดงามของศิลปะที่ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบและผู้สวมใส่ ถ้าผู้สวมใส่นิยม คนออกแบบก็ประสบความสำเร็จสามารถขายของได้ ถ้าไม่นิยม ผู้ออกแบบ ผู้ประกอบการก็ไม่เสียหาย ไม่มีล้มเหลว มีแต่เพียงคนจะชอบมาก ชอบน้อย ซึ่งต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาชิ้นงานให้มีความหลากหลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราให้เกิดความยั่งยืน” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยและช่างทอผ้า ให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย สามารถนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้า ตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน โดยดำเนินการ 8 จุดดำเนินการ ๆ ละ 1 วัน คือ จุดดำเนินการที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี (ดำเนินการแล้ว) จุดดำเนินการที่ 2 จังหวัดนครพนม (ดำเนินการแล้ว) จุดดำเนินการที่ 3 จังหวัดขอนแก่น (ดำเนินการแล้ว) จุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดสงขลา (ดำเนินการแล้ว) จุดดำเนินการที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ จุดดำเนินการที่ 6 จังหวัดชัยนาท จุดดำเนินการที่ 7 จังหวัดอุดรธานี และจุดดำเนินการที่ 8 จังหวัดสุโขทัย กลุ่มเป้าหมาย จุดดำเนินการละ 60 คน ประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า ช่างทอผ้า และสมาชิกศิลปาชีพ สำหรับกลุ่มเป้าหมายในจุดดำเนินการที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ ในวันนี้ ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา และจังหวัดเชียงราย และสมาชิกทอผ้าฝ้ายโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 ราย และสมาชิกทอผ้าฝ้ายโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริ บ้านแม่ตุงติง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 ราย กิจกรรมประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้ง ดีไซเนอร์ นักออกแบบชั้นนำของประเทศ และการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าของผู้เข้าร่วมอบรมฯ เพื่อเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ ทั้งด้านเส้นใยและสาธิตการสาวไหมแบบโบราณ การย้อมสีธรรมชาติ Fashion Designer Trend and Fashion Expert Branding Marketing & Sale และการออกแบบลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งผลให้สามารถพัฒนาผ้าไทยให้ตอบสนองความต้องการของตลาด สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้ลงพื้นที่ติดตามงาน OTOP ศิลาดล ณ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมการแสดงสินค้าประเภทเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้าน ของขวัญและของที่ระลึกที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อหินที่ผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ ตามกรรมวิธีที่สืบทอดต่อกันมา ด้วยการทำจากฝีมือ ยึดวัฒนธรรม ลวดลายดั้งเดิม จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ศิลาดลนี้มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละชิ้นอีกด้วย