อธิบดี พช. ร่วมลงพื้นที่ให้กำลังใจการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจนพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองและขยายผลในทุกพื้นที่สู่ความยั่งยืน

วันที่ 21พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมพระมงคลมิ่งเมือง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นางรัชชุมา บุตรโพธิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ นายธนูสินธ์ ไชยสิริ นายศิริพันธ์ ขุ่มด้วง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายฤทธิสาร เทพพิทักษ์ ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ นายภูษิต น้อยโสภากุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ในการแก้ไขช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ให้พ้นจากความทุกข์ ความยากลำบากในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ที่เราเรียกว่า ความยากจน และความเดือดร้อนมิติอื่น ๆ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ “ศจพ.” มีเป้าหมายในการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งคำว่า “ความยากจน” ที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยกำลังขับเคลื่อนในขณะนี้นั้น หมายถึง ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่หมายความเพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจปากท้องเท่านั้น เพราะความยากจนมันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้คนต้อง “อับจน” เข้าไม่ถึงสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ลงพื้นที่มอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งเป็นแม่ทัพของจังหวัดและอำเภอในการขับเคลื่อนฯ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ โดยมีทีมปฏิบัติการตำบล และทีมพี่เลี้ยง ซึ่งประกอบด้วย ปลัดอำเภอ พัฒนากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสา ลงสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทุกเรื่อง และร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมหาวิธี ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร ทางออก อย่างใกล้ชิด (Intensive Care) โดยการมีส่วนร่วมของครัวเรือน ตามแนวทาง 2 มิติ คือ 1) มิติยาฝรั่ง คือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทำให้อยู่รอดอย่างรวดเร็ว ในเบื้องต้น เช่น ช่วยกันทำให้มีที่อยู่อาศัยได้เรียนหนังสือ มีอาหารกิน มีเครื่องไม้เครื่องมือประกอบอาชีพ และ 2) มิติยาไทย ทำให้ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมทักษะ วิธีการ แนวทางในการแก้ปัญหา ดึงเอาความสามารถที่มีอยู่มาใช้ สามารถพึ่งพาตนเองด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสร้างกระบวนการกลุ่มที่มีจิตอาสาขึ้นในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอให้ได้ เพื่อช่วยเหลือดูแลกันและกัน และส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นแหล่งอาหารประทังชีวิต เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา สร้างแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค มีกิน มีใช้ ด้วยความรัก ด้วยการพึ่งพาตนเอง ด้วยการแบ่งปัน

สำหรับเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนในครั้งนี้ที่ถือเป็นความท้าทาย คือ ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพราะงานทุกงานต้องมีระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อที่จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้พวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะแม่ทัพของจังหวัด และนายอำเภอในฐานะแม่ทัพของอำเภอ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการทุกกระทรวงในพื้นที่ในฐานะขุนศึกทั้งหลาย ได้มุ่งมั่นทำงาน ด้วยจิตใจรุกรบ โหมการทำงาน ซึ่งเรามั่นใจว่าจะมีความสำเร็จ แต่ความสำเร็จ 100% จำเป็นต้องใช้ความเพียรพยายามและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นอกจากนี้ ในวันที่ 30 กันยายน เป็นวันที่ข้าราชการหลายท่านจะต้องเกษียณอายุราชการ จึงเป็นโอกาสที่จะได้มุ่งมั่นทุ่มเททำงานรับใช้ประชาชนจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิตข้าราชการ ดังนั้น ในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้ ทุกครัวเรือนจะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาครบถ้วน แต่หากบางปัญหาได้แก้แล้วแต่ยังไม่ครบ 100% ก็จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่กำหนดต่อไปจนเสร็จ

“พวกเราข้าราชการทุกคนคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้รับเงินเดือนมาจากภาษีของพี่น้องประชาชน โดยมีสำนึกรับผิดชอบว่า เราจะทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนที่ถือเป็นข้าศึกอริราชศัตรู ยอมตายถวายชีวิตเพื่อทำสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ของพวกเราทุกคน นั่นคือการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน ด้วยการร่วมมือกับทุกกระทรวง ทุกภาคส่วน ทุกภาคีเครือข่ายทำงานอย่างไม่ย่อท้อเหน็ดเหนื่อย เพราะเรื่องที่กำลังทำนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เกี่ยวกับความมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อแก้ไขปัญหาความจนให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวย้ำ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) เพราะศัตรูที่สำคัญที่สุดของการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน คือ “ความยากจน” ดังนั้น ถ้าพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมก็จะเกิดความยั่งยืน บัดนี้ พวกเราทุกคนกำลังทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่จะยังประโยชน์อันมหาศาลให้กับประเทศชาติ หากพวกเราทุกคนทำได้สำเร็จ จะเป็นการ Dream come true นั่นคือ “ทำความฝันให้เป็นจริง” เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเราจะร่วมกันขับเคลื่อนทำความฝันของพี่น้องประชาชนให้เป็นจริง

จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมชมการต่อยอดงานหัตถศิลป์หัตถกรรมชาวบ้านสู่สากลภายใต้แบรนด์ Thorr ณ ร้าน Thorr Cafe ตำบลรัตนวารี อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีคุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ เจ้าของกิจการ และคุณธนิดา คุณณัฐณิชา เจ้าของแบรนด์นุชบาผ้าขาวม้า ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ คุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ นำชมผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหัตถศิลป์ที่ถูกจัดอย่างลงตัวและมีเสน่ห์ และนำเยี่ยมชมการผลิตงานหัตถกรรมภายในบริเวณร้าน พร้อมกล่าวถึงแรงบันดาลใจ

” Thorr มาจากถักทอ มีอายุ 4 ปีแล้ว อิ๋งทำจากทุกอย่างที่เราเรียนรู้มา ไม่ได้เกิดจากความรักแพสชั่น ความหลงใหลอย่างเดียว ความรู้อย่างเดียว มาทำทอเหมือนสะท้อนตัวเอง หลัก ๆ มีหลายปัจจัย ถ้าเป็นปัจจัยภายในสมัยเรียนสถาปัตยกรรมอิ๋งไปฝึกงานที่เชียงใหม่ เป็นโรงไหม อิ๋งเป็นเด็กโลคัล ต้นทุนที่อิ๋งมีคือ ต้นทุนทางวัฒนธรรมและต้นทุนของความเป็นตัวอิ๋ง อิ๋งมองว่าเป็นสินทรัพย์ เหมือนเรามีความเชื่อว่า ถ้าเราไม่มีองค์กรเป็นแบ๊กอัพ ถ้าเราเป็นเราแบบนี้ เราจะทำอะไรล่ะและบางอย่างที่เราอยากลองเราจะทำมันได้ดีแค่ไหน แล้วเราจะทำอะไร อิ๋งมีโอกาสกลับบ้านที่อำนาจเจริญบ่อย และอินในวัฒนธรรมงานคราฟต์ ชอบคุยกับคนแก่ อินกับเรื่องพวกนี้ อยู่ดี ๆ ก็คิดขึ้นมา เห็นในเฟซบุ๊ก เห็นเสื่อกก เห็นเสื่อหลาย ๆ รูปแบบ รู้สึกว่าทำไมเหมือนเดิม ตั้งแต่เราเด็กจนโตเหมือนเดิมตลอดเลย อะไรที่ทำให้เหมือนเดิม แล้วทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม อิ๋งมองว่าเป็นแค่เสื่อ หรือวัสดุ หรือพัฒนาได้ดีกว่านี้ได้ไหม แบบเปลี่ยนเล็กเปลี่ยนใหญ่ อิ๋งอยากใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนรู้ในศาสตร์หลาย ๆ แขนง มาทำแบรนด์แฮนด์คราฟต์ ที่ร่วมสมัย ชาวบ้านผลิตได้ง่ายขึ้น มีความเป็นธรรม เขามีรายได้เสริม ตัวอิ๋งเองได้ใช้ประโยชน์ อยากสร้างแบรนด์ที่แฮนด์คราฟ์เป็นคอมเทมโพรารี่จากคนโลคัล ที่มีโอกาสได้เห็นโลกกว้างขึ้นหน่อยจากเรา ให้ได้ประโยชน์ ไม่อยากให้คนสนับสนุนคิดว่าเป็นงานชุมชน เห็นใจ สงสาร อยากให้เขารู้สึกว่าใช้งานได้จริง สวย สมเหตุสมผลแล้วมีคนได้ประโยชน์จริง ๆ และทุกอย่างจะเกิดความยั่งยืน ตอนนั้นถึงตอนนี้โปรดักส์มีหลากหลาย อิ๋งมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย มีช่างทอประมาณ 30-40 คน ทุกคนทำงานอยู่ที่บ้านของเขา อยู่ในท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเอง การทำงานกับชาวบ้าน คือ ซอฟต์ สกิล ต้องมีความเข้าอกเข้าใจกัน การให้โอกาส การสร้างกฎระเบียบบางอย่างที่รับได้ร่วมกัน แล้วที่สำคัญที่สุดคือแสดงเจตนาที่แท้จริงว่าไม่มีใครเอาเปรียบใคร ที่มีจุดเริ่มต้นจากแนวความคิดที่อยากเห็นสินค้าไทยได้มีความเป็นสากล จึงพยายามคิดแบบผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ต้องดูแลตัวเองให้ได้ดีที่สุดก่อนที่จะคาดหวังความช่วยเหลือจากใคร เมื่อคุณป้า คุณน้าได้เห็นสิ่งที่เราตั้งใจทำจริง ๆ แล้วมันจะมีทางไปต่อ โดย Thorr ได้ลงทุนให้ชาวบ้านลองผิดลองถูก ลงทุนให้เรามีความรู้มากขึ้น เพื่อให้เขาเข้าใจ ให้เขาเห็นประโยชน์จากการทำสิ่งนี้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จนกระทั่งในปัจจุบัน มีคนมาขอทอกับเรามากขึ้น มีคนปลูกต้นกกเยอะขึ้น และที่ดีไปกว่านั้น คือ ไม่เพียงแต่คนในอำนาจเจริญ แต่ยังมีคนจากจังหวัดต่าง ๆ ใกล้เคียง และในภาคอื่น ๆ เห็น Thorr เป็นโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตนเองเพื่อต่อยอดสินค้าสู่ช่องทางการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างหลากหลายและเป็นสากล ซึ่งทำให้เรายินดีที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาพี่น้องชาวบ้านที่มีพรสวรรค์ฝีมือในงานหัตถกรรมเหล่านั้น

เราสอนกันไป สอนกันมา ป้าสอนหลาน หลานสอนลุง ทำให้อิ๋งจำฝีทอของช่างแต่ละคนได้ แล้วความน่ารักน่าเอ็นดูของช่างทอ คือ เวลาส่งชิ้นงานจะเขียนบรรจงลงลายมือชื่อบนกระดาษห้อยติดไว้ด้วย อิ๋งเลือกไม่เอาออก มาแบบไหน ส่งลูกค้าแบบนั้น กลายเป็นเสน่ห์ เหมือนงานคราฟต์ไทยมีชีวิต และลูกค้าก็ได้รู้ที่มาของชิ้นงานนั้นด้วย เราว่าสิ่งละพันอันน้อยเหล่านั้นจะถูกเล่าต่อ มากกว่าการสร้างการรับรู้ กลับเป็นสร้างความสุขใจทั้งคนทอและคนรับ” คุณอุ๋งอิ๋ง กล่าวความรู้สึก