วันที่ 7 มีนาคม 2565 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดกิจกรรมประกาศวาระชุมชน ในโอกาสครบรอบ 48 ปี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต “ส่งเสริมการออมภาคประชาชน” ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ด้านการส่งเสริมการออม รวมทั้งประชาสัมพันธ์งาน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแก่ประชาชนทั่วไป โดยมี ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการ ผู้แทนธนาคารประกอบด้วย นางไพรสุดา ศรีธัญญารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝาก ธนาคาร ธกส., นายกมลภู ภูริดิฐสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริหารธุรกิจธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย, นายสถาพร มัคคพันธ์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาศูนย์ราชการฯ, เข้าร่วมงาน และมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, นายณรงค์ บุ่ยศิริรักษ์ อดีตรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, นายร่องกี่ พลเยี่ยม ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นวิทยากรเสวนา ในหัวข้อ “48 ปี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจากปัจจุบันสู่อนาคตลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชน” และหัวข้อ “ความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” โดยตัวแทนคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจาก 3 จังหวัด ประกอบด้วย กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะสัก หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านหวี อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านยางกระเดา หมู่ที่ 10 ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านทุ่งสะท้อน หมู่ที่ 6 ตำบลปากแพรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถอดบทเรียนความสำเร็จการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ริเริ่มแนวคิดการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้กล่าวปาฐกถา และได้ฝากแนวคิดในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ให้ยึดตามแนวทางที่เน้นความเท่าเทียม ทุกคนสามารถเป็นสมาชิกได้ เงินทุกของคนมีค่าเท่ากัน คนรวยมีโอกาสในการช่วยเหลือแบ่งปันเงินทุน คนจนมีโอกาสในการแบ่งปันแรงงาน หลักสำคัญของกลุ่มออมทรัพย์คือการออมตามศักยภาพของประชาชน และมีการผลิต เพื่อให้เกิดกิจกรรมในชุมชนและการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก

นายสมคิด จันทมฤก เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งริเริ่มโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรก จำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6 – 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมของประชาชน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกในครัวเรือนและช่วยเหลือคนในชุมชน ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักการ “ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ” ให้คนมีคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกัน และความไว้วางใจกัน และพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชนของตนเอง เรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ “กระบวนการกลุ่ม” และใช้ “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออมของสมาชิก ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 19,222 กลุ่ม สมาชิก 5.2 ล้านคน มีเงินสัจจะสะสมกว่า 34,900 ล้านบาท สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับประโยชน์ในการกู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว ลดการพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก จำนวน 1.2 ล้านคน คน เป็นจำนวนเงิน 24,300 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตสามารถดำเนินกิจกรรมเครือข่ายหรือกิจกรรมเชิงธุรกิจชุมชน เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกและชุมชน เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ยุ้งฉาง ธนาคารข้าว ลานตากผลผลิต โรงสีข้าวชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นการฝึกหัดการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมการพัฒนาด้านต่าง ๆ และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชน

นายสมคิด เปิดเผยต่อว่า ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง มีอาคารสถานที่เหมาะสม คณะกรรมการมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็น “โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” ซึ่งมี 8 แห่งทั่วทุกภาค และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็ง ยังเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนศูนย์จัดการกองทุนชุมชน (ศจก.) โดยการประสานงานและบูรณาการกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน นำไปสู่การลดหนี้และปลดหนี้ แก้ปัญหาทางการเงินของครัวเรือนเป้าหมายอย่างได้ผลดี เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ครัวเรือนมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย อัตราการออมครัวเรือนลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนมีเงินสำรองไม่เพียงพอ และมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ ประกอบกับเนื่องในโอกาสการสถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบ 130 ปี วาระการครบรอบ 60 ปี การก่อตั้งกรมการพัฒนาชุมชน ในปี 2565 ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อพี่น้องประชาชน และเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ครบรอบ 48 ปี ในวันที่ 6 มีนาคม 2565 นี้ กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดกิจกรรมมหกรรมการออมลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนขึ้น และมีการประกาศวาระชุมชน “การส่งเสริมการออมภาคประชาชน” ซึ่งมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนวาระนี้ให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของเงินออมภาคประชาชน ภายในปี 2565 ต่อไป