เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กินสบายใจ จัด WORK SHOP ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยการทำเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร เพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศาลาวัดบ้านหนองจาน โครงการกินสบายใจ มีการชวนสมาชิกกินสบายใจ มาพูดคุยถึงแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงอย่างครบวงจร โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ และการทำเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร มีการพัฒนาโครงการจากเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 10 โครงการ

นางสาวพรรณี เสมอภาค ที่ปรึกษาโครงการกินสบายใจ กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ที่โลกอยู่ในภาวะการเจ็บป่วย เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.47 องศาเซลเซียส งานวิจัยบอกว่าโลกเราไม่สามารถอยู่ได้หากอุณหภูมิสูงถึง 1.50 องศาเซลเซียส นำมาซึ่งปัญหาภัยพิบัติ และปัญหาสุขภาพอาการของโลกในวันนี้ เหมือนคนป่วย เกษตรกรหลายคนสะท้อนว่า อากาศร้อนขึ้นส่งผลให้ปลูกผักยากขึ้น มีโรคระบาดและแมลงระบาดมากขึ้น เพราะฉะนั้น เราทุกคนต้องหยุดกิจการอาชีพ หรือกิจกรรมต่างๆที่ทำลายโลก ทำลายสังคม และเศรษฐกิจของตนเอง และทำให้โลกป่วย ต้องรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การทำเกษตรอินทรีย์คิดทางออกไว้อย่างชัดเจน คือการดูแลสุขภาพของทุกคน ดูแลระบบนิเวศน์ เช่น ดิน น้ำ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างเครือข่ายทางสังคมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และการค้าขายที่เป็นธรรมในสังคม เป็นปรัชญาเกษตรอินทรีย์ “เมื่อเลือกที่จะประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือขยับมาเป็นผู้ประกอบการ นักการตลาดที่เปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆให้กับผลผลิตเกษรอินทรีย์ คนทำเกษตรอินทรีย์ทุกคน กำลังทำอยู่ จะเรียกว่า BCG Model หรือเศรษฐกิจใหม่ก็ได้ เพราะทำทั้ง เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่มีของเสียในฟาร์ม หมุนเวียนนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และเศรษฐกิจชีวภาพ คือการใช้ชีวภาพในกระบวนการผลิต ไม่มีการใช้สารเคมี”

ทั้งนี้เกษตรอินทรีย์เอง ก็เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model ตั้งแต่ผู้ผลิตคนเล็กคนน้อยที่ทำงานในแปลงของตนเอง ผู้ประกอบการ คนทำการตลาด คนแปรรูป ที่มีการใส่ใจชีวิต ผืนดิน ระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูล ใส่ใจความเป็นธรรมในสังคม และการใส่ใจโลก ทั้งหมดนี้ได้ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น แก้ปัญหาความยากจน สร้างอาชีพ รายได้ ขจัดความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสุขภาพที่ดี สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นเกษตรที่มีความรู้ นวัตกรรมการพัฒนาปรับตัวรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติอยู่เสมอ การเพิ่มการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องมีความร่วมมือกันกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน จังหวัด ประเทศ และโลกให้ดีขึ้นพร้อมกันการจัดประชุมในครั้งนี้ มีการทำความเข้าใจการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง และทำความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการกินสบายใจ จนเห็นการเชื่อมโยงว่าสามารถตอบโจทย์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร รวมทั้งการทำความเข้าใจในโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model

นอกจากนี้ยังมีการ work shop โดยให้กลุ่มเกษตรกรได้ออกแบบร้อยเรียงโครงการหรือสิ่งที่อยากทำจากปัญหา ที่สามารถตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model โดยเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรมีการพัฒนาโครงการ ดังนี้ 1.โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตมะเขือเทสหวานทานสดในระบบเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าทางการเกษตรมูลค่าสูง 2.โครงการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ 3.โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ 4.โครงการปลูกผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพดีตลอดทั้งปี 5.โครงการยกระดับอาหารพื้นถิ่น หมักดองของดี ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้เป็นอาหารปลอดภัย และโครงการปลาส้มอาบแดดแสงแรกในจังหวัดอุบลราชธานี 6.โครงการการยกระดับการเพิ่มผลผลิต ผลไม้อินทรีย์ 7.โครงการผลิตไข่ไก่อินทรีย์เพื่อบริโภคและจำหน่าย 8.โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวพื้นบ้านน้ำตาลต่ำเพื่อเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร 9.โครงการหม่อนไหม 10.โครงการเพาะเห็ดอินทรีย์

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เภสัชกรกาญจนา มหาพล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ดร.กฤตยา อุทโธ อาจารย์คณะบริหารศาสตร์ ผศ.บุญทิวา พ่วงกลัด อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มาให้ข้อคิดเห็นต่อโครงการ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับโครงการให้มีความโดดเด่น รวมทั้งหากมีผลิตภัณฑ์ใดที่มองเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม หรือจุดเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี ก็จะนำไปวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส ความเป็นไปได้ และทำแผนธุรกิจเข้าไปขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดอุบลราชธานี โดยธุรกิจหรือการประกอบการของเกษตรกรนั้นจะอยู่ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ที่ใช้แผนธุรกิจมาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์การขับเคลื่อนธุรกิจ ที่มีคุณค่าเป็นแรงขับเคลื่อน มีเอกลักษณ์ และตัวตนคนที่ทำ ที่ยืนยันว่าจะมุ่งมั่นเดินบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่วิธีคิด การผลิต แปรรูป ตลาดส่งต่อคุณค่านี้สู่ผู้บริโภค